เปิดเส้นทางจักรยานศึกษาธรรมชาติในแปลงปลูกป่า FPT 49
สานต่อพระราชปณิธานและเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว…จากแรงบันดาลใจต้นที่ 100 ล้าน…สู่กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “เทิดไท้องค์ราชัน น้อมเกล้าศิระกราน” มุ่งส่งเสริมจิตอาสา การมีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคม
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในงานกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “เทิดไท้องค์ราชัน น้อมเกล้าศิระกราน” แปลงปลูกป่า FPT 49 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวง โดยมี นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย พันเอกโกศล กิจกุลธนันต์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเปิดเส้นทางปั่นจักรยานและเส้นทางศึกษาธรรมชาติในแปลงปลูกป่า FPT 49 พร้อมร่วมกิจกรรมปลูกต้นรวงผึ้ง และกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาโป่งเทียม เพื่อสืบสานความหวงแหนในผืนป่า ร่วมเป็นจิตอาสารักษ์โลก และสานต่อพระราชปณิธานโครงการจิตอาสาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ณ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า “เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 กลุ่ม ปตท. ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “เทิดไท้องค์ราชัน น้อมเกล้าศิระกราน” ต่อเนื่องตลอดปี ด้วยมุ่งมั่นสานต่อพระราชปณิธานโครงการจิตอาสาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จึงได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนชุมชนใน จ.นครราชสีมา พัฒนาเส้นทางจักรยานระยะทาง 7 กิโลเมตร เชื่อมไปสู่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 800 เมตร ในพื้นที่แปลงปลูกป่าประวัติศาสตร์ โดยมีแรงบันดาลใจจากต้นประดู่ป่าทรงปลูก “ต้นไม้ต้นที่ 100 ล้าน” ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ของ ปตท. เมื่อปี 2540 ณ แปลงปลูกป่า FPT 49 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวง ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โดยในวันนี้ได้พร้อมเปิดเส้นทางอย่างเป็นทางการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง และตระหนักในความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าใต้ร่มพระบารมีแห่งนี้ และชมนิทรรศการถาวร เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวพลิกฟื้นแปลงปลูกป่า FPT 49 จากสภาพเขาหัวโล้น กลายเป็นผืนป่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ ปตท. อันจะเป็นแหล่งเรียนรู้การฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ ซึ่งกลุ่ม ปตท. ชุมชนรอบพื้นที่ และหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกันทำนุบำรุงจนปัจจุบันเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้าน เป็นศูนย์กลางความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าโดยรอบ และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน”
ปัจจุบัน แปลงปลูกป่า FPT 49 เป็นส่วนหนึ่งของป่าต้นน้ำให้กับแม่น้ำสายหลักที่สำคัญหลายสาย จากการประเมินผลสัมฤทธิ์ พบว่า สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.003 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ชุมชนได้รับประโยชน์จากป่าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.55 ล้านบาท/หมู่บ้าน/ปี และฟื้นคืนความหลากหลายของสัตว์ป่าได้มากกว่า 150 ชนิด จนได้รับการผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวงในปัจจุบัน ทั้งนี้ บริเวณโดยรอบผืนป่ายังเป็นจุดศูนย์กลางพื้นที่อนุรักษ์มรดกทางทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับการรับรองจาก UNESCO แล้วถึง 2 โปรแกรม คือ พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช และมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และอยู่ระหว่างการขอรับรองอีก 1 โปรแกรม คือ อุทยานธรณีโคราช และหากได้รับการรับรองครบทั้ง 3 โปรแกรมดังกล่าว จะได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก” หรือ The UNESCO Triple Crown แห่งที่ 4 ของโลก ซึ่งต้นประดู่ป่าทรงปลูก “ต้นไม้ต้นที่ 100 ล้าน” เป็นศูนย์กลางของพื้นที่ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ เพื่อเป็นมรดกตกทอดให้กับลูกหลานไทย ใต้ร่มพระบารมี สืบไป
นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรม “รวมใจจิตอาสา ฟื้นฟูพิทักษ์ป่า ถวายองค์ราชัน” ตลอดปีมหามงคลบรมราชาภิเษกนี้ ด้วยการเชิญชวนประชาชน ให้มาร่วมกันพัฒนาสภาพป่าเพื่อให้ระบบนิเวศ มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยมีกิจกรรมต่างๆ ิจกรรมอาทิเช่นภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรดำริและความมั่นคง กองอาทิ กิจกรรมบำรุงรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติ ซ่อมแซมแนวกันไฟ ทำโป่งเทียมและปลูกพืชอาหารให้สัตว์ป่า เป็นต้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและตระหนักต่อความสำคัญของทรัพยากรน้ำ การฟื้นฟูป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศ สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางอีกด้วย โดยที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ยังได้รับความร่วมมือจากชุมชนรอบพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำโครงการด้านการอนุรักษ์อื่นๆ อาทิ โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นนํ้า ปี 2552- 2556 กิจกรรม “เมล็ดพันธุ์แห่งความภักดี…ใต้ร่มพระบารมี” พลิกฟื้นคืนผืนป่า ปี 2560 งานวิจัยความหลายหลากทางชีวภาพในพื้นที่ ปี 2561 เป็นต้น