“คมนาคม”เล็งขยายผลจุดจอดพักรถระยะ 90 กม.ไปยังรถบรรทุก-ส่วนบุคคล
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ประจำเดือนกันยายน 2562 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม ว่าที่ประชุมติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม การกำหนดจุดจอดพักรถโดยสารสาธารณะ (Checking Point) ทุกระยะทาง 90 กิโลเมตร เพื่อดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานผู้ขับขี่ และตรวจสภาพรถให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รายงานผลการตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 16 – 25 กันยายน 2562 ตรวจสอบรถจำนวน 35,139 คัน พบข้อบกพร่อง 819 คัน หลังจากดำเนินมาตรการพบว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลง ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้ประเมินผลการดำเนินการเป็นรายสัปดาห์ และเตรียมขยายผลการดำเนินการไปยังรถบรรทุกและรถส่วนบุคคล โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำ Workshop โดยขอให้ระมัดระวังในการกำหนดจุด Checking Point ต้องไม่กีดขวางการจราจร
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่ง ขบ. ได้ยกระดับการตรวจวัดค่าควันดำรถโดยสารและรถบรรทุก ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ 15 จังหวัดโดยรอบ ประสานกรมควบคุมมลพิษ ตั้งจุดตรวจ ณ พื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูง เปิดช่องทางให้ประชาชนร้องเรียนผ่านศูนย์ 1584 เฟสบุ๊ค ขบ. และทาง Line โดย ขบ. จะตรวจสอบและลงโทษอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ได้ประสานงานผู้ประกอบการขนส่งในการตรวจวัดควันดำรถโดยสารและรถบรรทุก ณ สถานที่ประกอบการ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า การดำเนินการรับฟังความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Public Hearing) เป็นการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเว็บบอร์ดทางเว็บไซต์ของกระทรวงคมนาคม ในประเด็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยขอให้ทุกหน่วยงานส่งข้อมูลให้กระทรวงฯ เพื่อดำเนินการต่อไป
ขณะเดียวกันยังมีการติดตามการดำเนินการก่อสร้างถนนพระราม 2 โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้แก้ไขปัญหาการรื้อย้ายสาธารณูปโภค แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณปากซอยพันท้ายนรสิงห์ และจะเร่งรัดการก่อสร้างโดยยังคงสภาพจราจรให้จำนวนช่องจราจรเท่าเดิม และปฏิบัติตามนโยบาย 6 มิติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ดำเนินการก่อสร้างให้ได้ตามแผนที่วางไว้ และให้ทุกหน่วยงานนำมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหา 6 มิติ ได้แก่ การออกแบบ การประชาสัมพันธ์ ด้านสัญญากำหนดแนวทางและดำเนินการจัดการจราจรไว้ในแบบสัญญา การคัดเลือกผู้รับจ้าง การจัดการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ให้มีค่ารื้อย้ายสาธารณูปโภคในสัญญา และการบริหารงานจราจร ไปใช้ในโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม
การกำหนดอัตราความเร็วถนน 4 ช่องทางจราจรขึ้นไป ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ซึ่ง ทล. ได้ศึกษาพิจารณากำหนดอัตราความเร็วบนถนนทางหลวง โดยคัดเลือกทางหลวงหมายเลข 32 บางปะอิน – นครสวรรค์ ระยะทาง 150 กิโลเมตร เป็นโครงการนำร่อง โดยเสนอปรับความเร็วให้เหมาะสมตามช่องจราจร ช่องขวาสุดเฉพาะรถยนต์ 4 ล้อ ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แนวทางการกำหนดรถส่วนบุคคลที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นให้เป็นรถสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขบ. เตรียมยกร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่นและกำหนดเครื่องสื่อสารและการใช้เครื่องสื่อสารระหว่างรถและศูนย์บริการ พร้อมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถแท็กซี่รูปแบบเดิม
การแก้ไขปัญหาจราจรหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และค่าทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) ให้สามารถผ่านด่านเก็บค่าผ่านทางได้อย่างรวดเร็ว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนการเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่านด่านตามนโยบายระยะเร่งด่วน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้ ทล. หารือร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อบูรณาการในการแก้ไขปัญหา และหาแนวทางการปรับลดค่าผ่านทาง
การนำยางพารามาใช้ในการก่อสร้างทางและวัสดุความปลอดภัยอื่น ๆ โดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราด้านการจราจรและความปลอดภัยทางถนน โดยผ่านกระบวนการวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และการมุ่งสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ
การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ให้เป็นการเดินทางและการขนส่งทางเลือกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เชื่อมโยงระบบขนส่งอื่น ซี่งกรมเจ้าท่ามีโครงการพัฒนาท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการยกระดับการให้บริการเป็นสถานีเรือที่มีการเชื่อมโยงระบบขนส่งอื่น นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (SMART PIER) เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการโดยการพัฒนาท่าเรือให้เป็นสถานีท่าเรือรองรับการขนส่งเชื่อมโยงบก น้ำ ราง และการให้บริการตั๋วร่วม และนำพื้นที่ท่าเรือบางส่วนไปใช้ในเชิงพาณิชย์สำหรับการพัฒนาเป็นท่าเรือและยังคงมีพื้นที่ให้บริการสาธารณะได้ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อพิจารณา
การพัฒนาการคมนาคมทางอากาศ โดยติดตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน รวมถึงการสนับสนุนสายการบินต้นทุนต่ำ ให้สามารถบริการประชาชนในภูมิภาคได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีการตรวจสอบ ควบคุมเพื่อให้มีคุณภาพในการให้บริการตามาตรฐานสากล และส่งเสริมให้ท่าอากาศยานภูมิภาคสามารถเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าเกษตร หรือสินค้าเน่าเสียง่ายออกสู่ท้องตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถจำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้น
นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการประชาสัมพันธ์แผนงานโครงการต่าง ๆ รวมถึงชี้แจงข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจแก่ประชาชนทราบในวงกว้างและเป็นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก และการดำเนินการใด ๆ ต้องยึดหลักปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ยึดความโปร่งใส ตรวจสอบได้เป็นสำคัญ