สะพานถล่มที่ประเทศไต้หวันสัญญาณเตือนไทย
จากเหตุการณ์สะพานถล่มที่ประเทศไต้หวัน เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา และมีผู้บาดเจ็บหลายรายนั้น ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย ได้ตั้งข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุการถล่มของสะพานดังกล่าว โดยระบุว่าสะพานที่ถล่มไปนั้น เป็นสะพานช่วงยาว 140 ม. ระบบโครงสร้างเป็นสะพานโค้งพาดช่วงเดียว และมีสายเคเบิ้ลหิ้วพื้นสะพานอีกที สำหรับระบบโครงสร้างแบบนี้จะเกิดแรงถีบที่ฐานรากสะพานค่อนข้างมาก และตัวสายเคเบิ้ลที่หิ้วสะพานต้องรับน้ำหนักพื้นสะพานค่อนข้างมาก ซึ่งจากการถล่มของสะพานที่เกิดขึ้นจะเห็นพื้นสะพานหักกลางช่วงแล้วตกลงไปในแม่น้ำ
สาเหตุที่ทำให้โครงสร้างสะพานถล่มอาจมีได้หลายสาเหตุ เช่น 1. ปัจจัยที่เกี่ยวกับการวิบัติในส่วนโครงสร้างสำคัญ เช่น ที่บริเวณคานโค้ง หรือ เสา 2. ปัจจัยที่เกิดจากการวิบัติที่บริเวณฐานราก เช่น ฐานรากทรุดตัว หรือถูกแรงถีบจากคานโค้ง 3. การบำรุงรักษาสะพาน ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ลวดสลิงอาจเกิดสนิมขึ้นได้ แม้ว่าสะพานนี้จะเพิ่งก่อสร้างมาเมื่อประมาณ 20 ปีมานี้เองก็อาจเกิดสนิมได้และ 4. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พายุไต้ฝุ่น ที่อาจทำให้สะพานได้รับความเสียหาย เมื่อรับน้ำหนักรถที่มาใช้งานสะพานจึงเกิดการพังถล่มสำหรับสาเหตุการวิบัติของสะพานจะเป็นสาเหตุใดนั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ขณะนี้ ต้องรอผลการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญของประเทศไต้หวันเสียก่อน
ศ.ดร. อมร พิมานมาศ กล่าวเสริมว่า สะพานเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ และอยู่กลางแจ้ง ต้องสัมผัสกับอากาศ ลม ความชื้น และแสงแดดตลอดเวลา จึงมีโอกาสเสื่อมสภาพได้รวดเร็ว อีกทั้งยังอาจประสบกับภัยธรรมชาติที่รุนแรง ดังนั้น บทเรียนจากสะพานถล่มในไต้หวัน เราจะต้องนำมาระมัดระวังกับสะพานในประเทศไทย ซึ่งก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดโปรแกรมการตรวจสอบสะพาน โดยแบ่งเป็นการตรวจสอบย่อยรายเดือน การตรวจสอบใหญ่ประจำปี และการตรวจสอบเฉพาะกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหวเนื่องจากในขณะนี้ในประเทศมีอุทกภัย ซึ่งอาจทำให้สะพานได้รับความเสียหายจากกระแสน้ำและสิ่งของลอยน้ำกระแทกสะพานอีกทั้งฐานรากสะพานอาจจะทรุดตัวเสียหายได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรตรวจสอบความปลอดภัยของสะพานเพื่อป้องกันมิให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยขึ้น