สกสว. ผนึก ดีป้า ปั้นเมืองนครสวรรค์อัจฉริยะ
ปากน้ำโพคึก สกสว. ผนึก ดีป้า จัดยิ่งใหญ่ดึงรัฐมนตรีกระทรวงดีอี โชว์วิสัยทัศน์ปั้นเมืองนครสวรรค์อัจฉริยะ โปรยยาหอมพร้อมดันสู่เมืองหลัก “จิตตเกษมณ์” เผยใช้กฎบัตรกระตุ้นการพัฒนาเมือง ด้าน “ดร.ปุ่น” หนุนเร่งบูรณาการร่วมแพลตฟอร์มใหม่ด้วยกฎบัตรสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่าองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์จะต้องบูรณาการร่วมกัน ผู้นำท้องถิ่นเร่งเรียนรู้เพื่อวางแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ย้ำการศึกษาด้านเทคโนโลยีทันสมัยด้วยระบบดิจิทัลจะช่วยส่งเสริมวิธีคิดให้รุดหน้า ปัจจุบันรัฐบาลพยายามช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบเทคโนโลยีทันสมัยอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ดังกรณีอินเตอร์เน็ตฟรีในชื่อว่าเน็ตประชารัฐ ให้ทุกคนในสังคม หรือในครอบครัวสามารถสื่อสารถึงกันได้อย่างมีความสุขแม้จะอยู่ห่างไกลกัน
โดยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 ได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์ ได้กล่าวถึงประเทศไทยในหลากหลายมุมมองให้ที่ประชุมได้รับฟัง ซึ่งหากมีโอกาสได้มาร่วมงานที่จังหวัดนครสวรรค์ก่อนก็จะนำข้อมูลต่าง ๆ ไปกล่าวในที่ประชุมครั้งนี้แต่พร้อมผลักดันให้จังหวัดนครสวรรค์ยกระดับการพัฒนาศักยภาพจากเมืองรอง สู่เมืองหลัก อย่างกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่
“หลายโครงการชาวนครสวรรค์จะต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่หน่วยงานใดหรือคนใดคนหนึ่งจะดำเนินการได้สำเร็จ ผมได้มีโอกาสเดินทางไปบรรยายให้ผู้นำหลายแห่งทราบถึงผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีคำง่ายๆ เรียกกันว่า ดิสรัปชั่น (Disruption) ผู้ที่ปรับตัวไม่ทันจะก้าวหน้าตามคนอื่นไม่ทันนั่นเอง หลายแห่งปรับตัว ปรับแนวความคิด ดังที่นครสวรรค์มีการตั้งประชาสังคมหารือการพัฒนาร่วมกันอยู่ในขณะนี้โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำ ประการสำคัญการพัฒนาเมืองไม่มีวันแล้วเสร็จต้องมีการขับเคลื่อนตลอดเวลา เมื่อหยุดก็จะโดนจังหวัดอื่นแซงหน้าไปทันที ดังนั้นจึงต้องมีแผนการและขั้นตอนดำเนินการจึงเชื่อว่าจะได้เห็นความร่วมมือกันของชาวนครสวรรค์เกิดขึ้นในครั้งนี้เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาเมืองให้สำเร็จร่วมกันให้เป็นเมืองน่าอยู่ ปลอดภัย เกิดการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนต่อไป”
ด้านนายจิตตเกษมณ์ นิโรจธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครสวรรค์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกฎบัตรนครสวรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันได้ตั้งคณะกรรมการกฎบัตรนครสวรรค์แล้วเสร็จ มีจำนวน 10 สาขาที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะสาขาไมซ์(MICE) ที่จะก่อสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ด้วยการนำพื้นที่ราชพัสดุขนาด 322 ไร่ไปพัฒนาไว้รองรับ เช่นเดียวกับสาขาสมาร์ทฟาร์มที่จะเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียงในการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นยังมีสาขาเมดิคัลฮับด้านสุขภาพ ซึ่งจะพบว่ามีนักลงทุนของโรงพยาบาลเอกชนและสถาบันการศึกษาชั้นนำให้ความสนใจมาลงทุนในจังหวัดนครสวรรค์ อีกทั้งยังเร่งแก้ไขผังเมืองไว้รองรับการพัฒนาให้สอดคล้องกันด้วย
“อยู่ระหว่างการเร่งก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมของจังหวัดให้แพร่หลายมากขึ้น อาทิ วัฒนธรรมตรุษจีนที่เลื่องชื่อของจังหวัดนครสวรรค์มาแล้ว 104 ปีให้หลายชาติพันธุ์มีโอกาสเข้ามาร่วมมากขึ้น มีการสร้างเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ให้ประชาชนสักการะบูชากราบไหว้ โดย 4 สาขาหลักอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันเพื่อฟื้นฟูเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านศิลปะควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นภาคประชาชนจึงเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น เมื่อเมืองเติบโตก็จะดึงผู้คนจากจังหวัดต่างๆเข้ามาสู่นครสวรรค์ได้มากขึ้นตามไปด้วย เศรษฐกิจจะดีขึ้น โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)ได้เข้ามาให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งการวิจัยที่เกี่ยวข้องการพัฒนาให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน”
ด้าน ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการภารกิจด้านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่าการวางแพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองจำเป็นต้องบูรณาการร่วมกัน ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้เข้ามาร่วมพัฒนาให้เป็นไปในรูปแบบสมาร์ทซิตี้มากขึ้น เพื่อยกระดับความสามารถด้านแข่งขันของประเทศ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานรุ่นใหม่ไม่ได้มาจากรูปแบบเดิมอีกต่อไป ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างเดียวแต่ยังทำให้เกิดกระบวนการต่าง ๆ ดังนั้นระบบการลงทุนใหม่ ๆ จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการลงทุนของภาครัฐเพียงอย่างเดียว กลไกของกฎบัตรและการพัฒนาเมืองรูปแบบต่างๆทำให้เกิดการลงทุนที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอย่างรวดเร็ว
“เชื่อว่าแพลตฟอร์มนี้หากสามารถเดินหน้าต่อไปได้จะเกิดเป็นความร่วมมือที่ดีของประเทศไทย จะเห็นการบริการระบบใหม่เกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ท้าทายในกระบวนการต่อไป คือคุณภาพของผู้นำ การทำงานต่อเนื่อง มีผู้ลงทุนในสาขาต่าง ๆ ปัจจุบันนี้ความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่จะเข้ามาสู่แพลตฟอร์มของกฎบัตรสามารถบูรณาการร่วมกันได้ โดยเฉพาะของจังหวัด เทศบาล และของเมือง”