พลังงาน

เปิด 7 โมเดลผุดโรงไฟฟ้าชุมชน 250 แห่งทั่วประเทศ

เปิด 7 โมเดลพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน คาดมีศักยภาพพัฒนาได้ถึง 250 แห่งทั่วประเทศ นำร่องก่อน 20 แห่งช่วงกลางปี 2563 “สนธิรัตน์” เผยเปิดทางให้ชุมชนเข้าไปถือหุ้นได้ 10-30%

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ได้ร่วมกันประชุมรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ที่จะนำไปสู่การจัดทำกรอบการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้ เป้าหมายโรงไฟฟ้าชุมชนเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า โดยการผลิตใช้และจัดจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในประเทศและเพิ่มรายได้เข้าสู่ชุมชนตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ไม่ว่าจะเป็น การประกันรายได้จากการปลูกพืชพลังงานการเข้าไปถือหุ้นในประกอบการกิจการโรงไฟฟ้า รวมถึงผลประโยชน์ของชุมชนที่จะได้รับรายได้จากการขายไฟฟ้า

สำหรับรูปแบบการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ พพ.นำเสนอจะมี 7 รูปแบบหลัก ได้แก่ 1.โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 2. ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน-พลังงานแสงอาทิตย์) 3.ชีวมวล 4. ไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์5.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.ไฮบริดก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย)-พลังงานแสงอาทิตย์ 7.พลังงานแสงอาทิตย์

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้วจะสรุปแนวทางที่ชัดเจนภายใน 1 เดือนหลังจากนี้แล้วจะประกาศเป็นนโยบาย โดยคาดว่าจะพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนได้ จำนวน 250 แห่ง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมขนแบบเร่งด่วนนำร่องขึ้นก่อน 10-20 แห่ง ภายในกลางปี 2563

ทางด้านการเข้าไปถือหุ้นโรงไฟฟ้าของชุมชนแต่ละแห่งน่าจะอยู่ราว 10-30% แต่ยังมีปัจจัยหลายที่จะนำมาประกอบการพิจารณา เช่น ถ้าชุมชนไหนขายวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าได้มากก็อาจจะถือหุ้นน้อยลง เพราะถือว่ามีรายได้เข้าสู่ชุมชนแล้ว ในทางตรงกันข้ามถ้าชุมชนไหนขายวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าได้น้อยก็จะต้องถือหุ้นได้มาก เพราะจะได้มีส่วนแบ่งรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้น ซึ่งโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีส่วนแบ่งรายได้ที่จะนำคืนสู่ชุมชนอย่างน้อย 0.25 บาทต่อหน่วย

ผลจากการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะนำข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็น ไปประกอบการพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการเปิดรับ ภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนกับชุมชน ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนโดยกรอบดังกล่าวจะนำเสนอสู่การพิจารณา                                  ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. อีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโรงไฟฟ้าในปี 2563” นายสนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับกรอบนโยบายการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน จะมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งต้องเป็นพื้นที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นฟางข้าว ซังข้าวโพด รวมถึงพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ และมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ไม่ว่าจะเป็นระบบส่ง ระบบจัดจำหน่ายที่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากชุมชน โดยแนวทางการจัดตั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง เอกชนและชุมชน ซึ่งมีเงื่อนไขที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และเปิดให้ชุมชนเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่เหมาะสมในขั้นตอนของการดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ เป้าหมายการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน ตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งได้กำหนดประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่มาจาก ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานผสมผสาน  ด้วยขนาดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่  โดยมีสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และที่สำคัญราคาซื้อขายไฟฟ้าต้องกระทบกับค่าไฟฟ้าให้น้อยที่สุด ที่มีเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนในสัดส่วนร้อยละ 30 ให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580  หรือแผน PDP 2018 เป็นการกระจายเชื้อเพลิงให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นเพื่อเสริมความมั่นคงระบบพลังงานของไทย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button