“ประกันสุขภาพ” บริหารความเสี่ยงนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบ Long Stay
คปภ. บูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ใช้ “ประกันสุขภาพ” บริหารความเสี่ยงนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบ Long Stay
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่าได้ร่วมแถลงข่าวกับ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พล.ต.ต.ณฐพล แสวงกิจ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นพ.ธเรศ กรัษนัยวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนายสรยุทธ ชาสมบัติ รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) โดยมีคณะทูตานุทูตจากหลายประเทศร่วมรับฟังด้วย
เหตุผลในการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยได้รับความนิยมด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการด้านการแพทย์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับด้านคุณภาพในระดับนานาชาติ และที่สำคัญราคาการให้บริการมีความเหมาะสมเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจำนวนมากเลือกเข้ามาท่องเที่ยวและรับบริการด้านสุขภาพ หรือบริการที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย เช่น กลุ่มที่เข้ามาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย กลุ่มที่เข้ามาเพื่อพักฟื้นจากอาการเจ็บป่วย กลุ่มที่เข้ามารับบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) โดยนำร่องในกลุ่มชาวต่างชาติที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปทุกรายที่เข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทย (Long Stay) ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสประสบปัญหาด้านสุขภาพ ให้ได้รับการคุ้มครองและดูแลตลอดระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลทำให้ประเทศไทยมีกลไกและยกระดับการคุ้มครองชาวต่างชาติในด้านสุขภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการของสถานพยาบาลไทยที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ อันจะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายรัฐบาล
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ในส่วนความรับผิดชอบของสำนักงาน คปภ. นั้น เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ตนในฐานะนายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความหลักฐานแสดงการประกันภัยสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี (Insurance Certificate) ให้กับบริษัทประกันภัยที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 14 บริษัท ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็ทน่าประกันสุขภาพ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันสุขภาพดังกล่าวจะต้องระบุความคุ้มครองจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาล ในกรณีผู้ป่วยนอกไม่ต่ำกว่า 40,000 บาทต่อปี และกรณีผู้ป่วยในไม่ต่ำกว่า 400,000 บาทต่อปี โดยชาวต่างชาติที่สนใจสามารถตรวจสอบบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ และแผนประกันภัยผ่านเว็บไซต์ http://longstay.tgia.org นอกจากนี้ยังสามารถซื้อประกันสุขภาพผ่านช่องทาง Online หรือช่องทางตัวแทน นายหน้าประกันภัย และตามช่องทางการขายตามที่บริษัทประกันภัยกำหนด ซึ่งบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องนำข้อมูลการทำประกันภัยของผู้เอาประกันภัยลงระบบในเว็บไซต์กลาง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบผ่านระบบได้ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการออกวีซ่า และขั้นตอนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้มีความสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนกรณีผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวที่มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพจากต่างประเทศอยู่แล้ว ความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ ต้องมีจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในไม่น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ข้างต้นเช่นเดียวกัน โดยจะเริ่มบังคับใช้หลักเกณฑ์นี้ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป