ปตท. ปั้นเลือดใหม่ต่อยอดธุรกิจในรูปแบบ New Business Startup
ปตท. ตอกย้ำผู้นำองค์กรแห่งยุคดิจิทัล เดินหน้าโครงการ PTT TECH Savvy Agent Season 2 เปิดเวที Reality Show รายการแรกขององค์กรในประเทศไทย คัดหัวกะทิ จัดทัพกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมด้วย CEO จากบริษัทชั้นนำ ร่วมปั้นวิสาหกิจหรือ Startup เปิดทางสร้างธุรกิจใหม่ในฐานะผู้มีส่วนร่วมก่อตั้ง (Co–Founder) พร้อมทุ่มเงินลงทุนสูงสุด 120 ล้านบาทต่อโครงการ (Prototype)
วันนี้ (29 ต.ค. 62) นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับทีมผู้ชนะเลิศการประกวดแนวคิดธุรกิจ ในโครงการ “PTT TECH Savvy Agent Season 2” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 ปตท. สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
นายชาญศิลป์ เปิดเผยว่า ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในปี 2561 ปตท. ได้นำร่องโครงการ PTT TECH Savvy Agent เปิดโอกาสให้พนักงาน ปตท. สมัครเข้าประกวดแนวคิดธุรกิจ ในรูปแบบ Reality Show ภายในองค์กรเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและประสบความสำเร็จด้วยกระแสตอบรับอย่างดียิ่ง ด้วยยอดชม Clip VDO ต่างๆ จากประชาชนทั่วไปภายนอกองค์กร กว่า 550,000 ครั้ง
สำหรับในปี 2562 ปตท. ได้สานต่อโครงการ PTT TECH Savvy Agent Season 2 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากร สร้างวัฒนธรรม และค่านิยมองค์กรด้าน Digitalization (SPIRIT+D) ให้มีความพร้อมสำหรับการสร้างธุรกิจใหม่ หรือสร้างคุณค่าต่อยอดธุรกิจ (Business Value Chain) ในลักษณะของบริษัทวิสาหกิจ (Startup) ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบ Coaching Session / Pitching Session บรรยายและเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและ Startup ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ พร้อมกิจกรรมกลุ่มซึ่งได้มีการบันทึกเทปการแข่งขันในรูปแบบ Reality Show เผยแพร่ผ่านสื่อภายในองค์กร และ YouTube Channel Account PTT People Plus
นายชาญศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ “PTT TECH Savvy Agent Season 2” มีพนักงาน ปตท. สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 64 ทีม ทีมละ 3 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 192 คน หรือประมาณ 5% ของพนักงานในองค์กร โดยเริ่มจากการคัดเลือก 30 ทีมที่ผ่านเข้ารอบมานำเสนอแนวคิดธุรกิจต่อหน้าคณะกรรมการ หลังจากนั้นคัดเหลือ 10 ทีมเพื่อเข้าสู่การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ และคัดเลือกจนเหลือ 3 ทีม ซึ่งการแข่งขันทุกรอบเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในรอบ 3 ทีมสุดท้ายที่ผู้เข้าแข่งขัน ผ่านการตัดสินจาก Commentator ชั้นนำกว่า 20 คน ทั้ง CEO จากบริษัทชื่อดัง และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจ Startup โดยมีเกณฑ์ในการตัดสินคือ การ Pitching Business Model ในเวลา 3 นาที ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะเลิศทั้ง 3 ทีมจะได้รับโอกาสสร้างธุรกิจในฐานะผู้มีส่วนร่วมก่อตั้ง (Co–Founder) เพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ให้ประสบความสำเร็จ และได้เดินทางไปศึกษาดูงานในบริษัทชั้นนำระดับโลก รวมถึงมีโอกาสได้รับเงินลงทุนสูงสุด 120 ล้านบาทต่อโครงการ (Prototype) จากคณะกรรมการด้านงบประมาณและการลงทุนของ ปตท. อีกด้วย
สำหรับผู้ชนะทั้ง 3 ทีมประกอบด้วย ทีมชนะเลิศ อันดับ 1 ชื่อทีม 3J สร้างสรรค์ ผลงาน PTT Media Space บริหารพื้นที่สื่อ Digital Signage ในสถานีบริการและสถานประกอบการของ ปตท. โดย นายเจษฎา เจียมบุรเศรษฐ์ (โน้ต) ฝ่ายแผนกลยุทธ์บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม นางสาวเขมรินทร์ ชูสถาน (ขวัญ) ฝ่ายแผนกลยุทธ์บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม และนายจิรัฏฐ์ พรหมดิเรก (พบ) ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีมชนะเลิศ อันดับ 2 ชื่อทีม TRIPLE-Tผลงาน Innaqua เทคโนโลยีวัสดุปิดแผลจากไบโอเซลลูโลสคอมพอสิต โดย นายนรินทร์ กาบบัวทอง (ต้น) ฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีกระบวนการปิโตรเลียมและปิโตรเคมี นายชัยพฤกษ์ เกตุเพ็ชร (ตั้ม) ฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีกระบวนการปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และ นายธันว์ เหลียงไพบูลย์ (ธันว์) ฝ่ายโครงการเอ็กสเพรสโซ ทีมชนะเลิศ อันดับ 3 ชื่อทีม PTT HUB ผลงาน SMART BOX ธุรกิจรับส่งสินค้าออนไลน์ผ่านตู้ตั้งอยู่สถานีบริการน้ำมันผ่าน Application โดย นายประสิทธิ์ วงศ์เลอศักดิ์ (บิ๊ก) ฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีการผลิตและขนส่งปิโตรเลียม สถาบันนวัตกรรม ปตท. นายเตชินท์ เอี่ยมฤกษ์ศิริ (ไฮ้) ฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีการผลิตและขนส่งปิโตรเลียม สถาบันนวัตกรรม ปตท. และนางสาวสุชาดา วรพงษ์ (จิ๊บ) ฝ่ายบริหารธุรกิจค้าปลีกและพื้นที่เชิงพาณิชย์ PTTOR
“ปตท. มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำองค์กรแห่งยุคดิจิทัลด้วยการสร้างสรรค์สิ่งดี และสิ่งใหม่ แสวงหาธุรกิจที่เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จใหม่ของ ปตท. ตามกลยุทธ์ CHANGE for the Future of Thailand ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสรรค์สร้างให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพและขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของบุคลากรให้ก้าวทันโลกยุคดิจิทัล การสร้างคนรุ่นใหม่ การทำงานร่วมกันเป็นทีม มีศักยภาพ มีความกล้าที่จะนำพาองค์กรก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต พร้อมที่จะขับเคลื่อน ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานชั้นนำของประเทศไทยให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายชาญศิลป์ กล่าวในตอนท้าย
ด้านนายเจษฎา เจียมบุรเศรษฐ์ (โน้ต) ตัวแทนทีม 3J สร้างสรรค์ กล่าวว่า ที่มาและแนวคิดของผลงานมาจากการที่สถานีบริการของ ปตท. มีมากกว่า 1,800 แห่งทั่วประเทศซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ ปตท.ได้เปรียบคู่แข่งในตลาด และจากการมองเห็นโอกาสดังกล่าว ทำให้ทีมพัฒนาโครงการ “PTT Media Space” ซึ่งเป็นการเข้ามาพัฒนาต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งเพิ่มรายได้จาก Fixed Asset เดิม ที่จะช่วยประหยัดงบประมาณในการลงทุน และเพิ่มรายได้ของ ปตท.ให้สูงขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น จากการเพิ่มพื้นที่โฆษณาในหลายๆ จุดของสถานีบริการ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีป้ายบิลบอร์ดแบบเดิมๆ ให้เป็นในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะช่วยให้โฆษณามีความน่าสนใจยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับ ปตท. รวมถึงเพิ่มจำนวนผู้มาใช้พื้นที่การโฆษณาได้อีกด้วย