ฟีโบ้ มจธ. จับมือ 20 โรงเรียนดังมุ่งสู่เป็นเลิศหุ่นยนต์
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมมือกับ 20 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนจักรคำคณาทร โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โรงเรียนทวีธาภิเศก โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ โรงเรียนพระหฤทัยเชียงใหม่ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนราชินี โรงเรียนราชินีบน โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โรงเรียนศึกษานารี โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โรงเรียนสายปัญญา โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เป็นกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือด้านการศึกษาและยกระดับคุณภาพทางวิชาการ สู่ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเป็นส่วนเสริมการพัฒนากำลังคนและสร้างองค์ความรู้ในด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอันจะเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม กล่าวว่า เป็นความร่วมมือพัฒนาด้านวิชาการและศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษาทั้งครูและนักเรียนเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับประเทศของในโรงเรียนเครือข่ายวิศวกรรมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสานต่อจากกลุ่ม 8 โรงเรียนแรกที่มีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเซนต์ดอมินิก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนร่องคำ สำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนอัสสัมชัญ โดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายได้พัฒนาร่วมกัน แบ่งปันความรู้ประสบการณ์การเรียนการสอน และการจัดกิจกรรมด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในลักษณะ Co-Creation และ Co-Opetition เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบและอย่างยั่งยืนให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละโรงเรียน พร้อมเป็นผู้นำในการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปยังโรงเรียนอื่นในระดับประเทศด้วย
ผศ.ดร.อรพดี จูฉิม ประธานหลักสูตร สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม กล่าวว่า กิจกรรมประกอบด้วย การจัดประชุมระดมสมองเพื่อวางแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การจัดอบรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพและองค์ความรู้ให้กับบุคลากรทางศึกษาในกลุ่มโรงเรียนเครือข่าย และเปิดโอกาสให้นักเรียนในกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายได้เข้ามาสัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้ภายในสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม เริ่มตั้งแต่การเข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัย เข้าร่วมกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพกับรุ่นพี่นักศึกษา การได้รับคำปรึกษาในการพัฒนาโครงงานด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนที่สนใจในสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและมีระบบ