บางจากฯ โชว์วิสัยทัศน์ “SynBio Forum 2019 : ชีวนวัตกรรม ศาสตร์เปลี่ยนโลก”
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเวทีสัมมนา “SynBio Forum 2019 ชีวนวัตกรรม ศาสตร์เปลี่ยนโลก” อัพเดตความก้าวหน้าเทคโนโลยีชีวภาพโลก สอดคล้องแนวคิดเศรษฐกิจ BCG Model ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ผ่านมุมมองจากวิทยากรทั้งภาครัฐและเอกชน จากทั้งไทยและต่างประเทศ พร้อมจัดแสดงข้อมูลและผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรม SynBio
ณ สำนักงานใหญ่ บางจากฯ อาคาร เอ็ม ทาวเวอร์ สุขุมวิท เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562
เป็นที่ทราบกันดีว่าประชากรโลกมีจำนวนสูงขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจากสถาบันทรัพยากรโลกระบุว่าในปี 2030 ประชากรโลกจะมีถึง 9,700 ล้านคน (จากประมาณ 7,000 ล้านคนในปัจจุบัน) แต่ทรัพยากรธรรมชาติ
มีจำกัด โลกไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการของมนุษย์ เมื่อผนวกรวมกับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกที่เพิ่มขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ล้วนเป็นอุปสรรคต่อระบบนิเวศของโลกและ
ยังส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนพื้นที่ทำกิน ทำให้เกิดวิกฤติทรัพยากรโลกขึ้น นักวิทยาศาสตร์ในสถาบันวิจัย
ชั้นนำต่างๆ จึงได้ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะสามารถตอบโจทย์วิกฤติทรัพยากรโลก เป็นที่มาของการพัฒนาเทคโนโลยี “Synthetic Biology” หรือ “SynBio” ที่นอกจากสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแล้ว
ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรโลก และสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่มบางจากฯ ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างความยั่งยืนมาโดยตลอด เรายึดแนวการทำธุรกิจภายใต้ BCG Model สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมี 3 แนวหลักคือ B (Bio economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า C (Circular economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด และ G (Green economy) เศรษฐกิจสีเขียว มุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน
โดยทุกๆ ปีกลุ่มบางจากฯ จะจัดการสัมมนาประจำปีเพื่อสะท้อนให้สาธารณชนได้เห็นถึงประเด็น
ด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ควรตระหนักและร่วมมือกันแก้ไขหรือพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาขยะ ภัยแล้งและการจัดการน้ำ จนถึงภาวะโลกร้อน โดยเมื่อปีที่แล้ว (2561) ได้จัดสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ
Bio Economy อันเป็นการนำเทคโนโลยีและแนวคิดนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ช่วยพัฒนาต่อยอดการใช้ทรัพยากรชีวภาพรวมถึงวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่
สำหรับการสัมมนาในปีนี้เป็นเรื่องของ ชีวนวัตกรรม Synthetic Biology (SynBio) ซึ่งเป็น Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีที่เปรียบเสมือนเครื่องมือในการออกแบบอนาคต มีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมหลายๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การเกษตร พลังงาน และการแพทย์ ฯลฯ โดย SynBio เป็นการนำนวัตกรรมมาสร้างสิ่งมีชีวิต (Living Organisms) ด้วยฝีมือของมนุษย์ ไม่ใช่การเกิดโดยธรรมชาติ ผสานความรู้ทางด้านชีววิทยา เทคโนโลยี และวิศวกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรโลกและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์และยั่งยืนจากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อลดการใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติ ลดขั้นตอนในกระบวนการผลิต ลดการปล่อยของเสีย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น SynBio ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ที่ใกล้ตัวพวกเราที่สุด น่าจะเป็น Biofuel หรือเชื้อเพลิงชีวภาพที่สามารถทดแทนการกลั่นน้ำมันดิบหรือเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ดีต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดค่าใช้จ่าย ซึ่งกลุ่มบางจากฯ ก็ดำเนินธุรกิจนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ผ่านบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ SynBio อื่นๆ ที่ได้ออกสู่ท้องตลาดในต่างประเทศ ก็มีตัวอย่างเช่นเนื้อวัวเทียมที่ผลิตจากพืชของ Impossible Burger และ Beyond Burger สตาร์ทอัพจากอเมริกา หรือเส้นใยแมงมุมสังเคราะห์จากโปรตีน ผ่านกระบวนการผลิตด้วย SynBio เกิดเป็นเส้นใยที่ทนทานที่สุดที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา รวมถึงยารักษาโรคมะเร็งออกฤทธิ์ตรงกับเซลล์มะเร็งและไม่ทำลายเซลล์ที่ดีในร่างกาย เป็นต้น”
ด้านดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ นวัตกรรม SynBio สร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทย เพื่อสะท้อน
ให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาอุตสาหกรรม SynBio ในประเทศไทย
ต่อด้วยการบรรยายเรื่อง SynBio: Global Trends & Industry Perspectives โดย Ms. Babette Pettersen, Director Business Development, Ginkgo Bioworks, Inc. สตาร์ทอัพยูนิคอร์นระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา พร้อม Mr. Mukund Rao ที่ปรึกษา บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (สตาร์ทอัพยูนิคอร์น หมายถึงสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เติบโตอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญ) และการบรรยายจากสตาร์ทอัพจากญี่ปุ่น ในหัวข้อ Brewing the Material Future โดย Mr.Daniel Meyer, Head of Global Corporate Planning, Spiber Inc. ผู้ผลิตแจ็คเก็ตเส้นใยแมงมุมสังเคราะห์ที่ทนทานที่สุดในโลก Moon Parka ของ The North Face ปิดท้ายด้วยเวทีเสวนา “จากศาสตร์สู่การนำไปใช้ SynBio: Connecting Science with Business and Life” โดยผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายสัตวแพทย์ รุจเวทย์ ทหารแกล้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร และ ดร. ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงวนิษา เรซ (หนูดี) นักเขียน นักวิชาการ ผู้ให้ความสนใจ Plant-based food อาหารเน้นพืช ที่จะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และถ่ายทอดตัวอย่างการนำนวัตกรรม SynBio ไปใช้จริง
นอกจากนี้ ที่ด้านหน้างานยังมีนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สวทช. เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ SynBio และตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น เบอร์เกอร์ที่ทำจากพืชของซิซเล่อร์ จัดแสดงอีกด้วย
———————————-
เกี่ยวกับบางจากฯ
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจผู้นำนวัตกรรมสีเขียวเพื่ออนาคต มุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดให้ทรัพยากรธรรมชาติ ใน 5 ธุรกิจหลักคือ 1) กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน เป็นโรงกลั่นแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัย 2) กลุ่มธุรกิจการตลาด ช่องทางหลักในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายสถานีบริการของบริษัทฯ กว่า 1,100 แห่ง มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เสริมด้วยธุรกิจ Non – oil ร้านกาแฟอินทนิลและร้านสะดวกซื้อ SPAR เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน 3) กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ผ่านการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของบมจ. บีซีพีจี ประกอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พิภพและน้ำ ในประเทศไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาว 4) กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ. บีบีจีไอ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 5) กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ธุรกิจปิโตรเลียม ผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ผู้พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในประเทศนอร์เวย์ และธุรกิจเหมืองลิเทียม ผ่านการถือหุ้นใน Lithium Americas Corp. (LAC) ผู้ประกอบธุรกิจเหมืองลิเทียมในประเทศอาร์เจนติน่าและสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เพื่อสร้างระบบนิเวศน์สำหรับนวัตกรรมสีเขียว (Green Ecosystem) ส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมที่สนับสนุนการก้าวกระโดดของพลังงานสีเขียวและผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศต่อไป