“ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้” ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนพัฒนาเมือง
“จังหวัดขอนแก่น” หรือ “เมืองหมอแคน” ปัจจุบันหลายภาคส่วนยอมรับถึงการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาจังหวัดให้ก้าวไปเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ (Smart City) ที่หลายจังหวัดนำไปเป็นโมเดลปรับใช้ โอกาสนี้ “สำนักข่าวไทยมุง” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ถึงการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) ให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปปรับใช้ขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างไร
ความจริงเริ่มมาก่อนที่รัฐบาลจะเห็นชอบให้ดำเนินการ เน้น 6 ด้าน โดยหนึ่งในนั้นคือด้านเทคโนโลยี พัฒนาคนแล้วใช้เทคโนโลยีผลักดัน นำด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไปปรับใช้ให้สอดคล้องกัน
ล่าสุดอยู่ระหว่างการใช้งบ 76 ล้านบาทพัฒนาระบบดาต้าซิตี้ซึ่งระบบรถไฟฟ้าจะเป็นตัวขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ขอนแก่นให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในเร็วๆนี้ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเมืองเก่าย่านศรีจันทร์ที่ภาคเอกชนอย่างบริษัทน้ำตาลมิตรผลเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาโครงการ
มีการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นอย่างไร
ปัจจุบันนี้เทศบาลเมืองขอนแก่นบูรณาการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนากับภาคส่วนอื่นๆในพื้นที่ โดยมีภาคเอกชนอย่างบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด เป็นผู้ประสานงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ โดยเฉพาะกับรัฐบาลให้เข้ามาร่วมผลักดัน “ขอนแก่น” เป็นเมืองอัจฉริยะให้สำเร็จตามแผนเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ เรามีแนวความคิดตั้งเอาไว้ว่า “ขอนแก่นจะอยู่กับประเทศอย่างไรให้มีความหวัง” ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่พบเจอ อาทิ ข้อจำกัดทางราชการ แผนงาน ฯลฯ ประการสำคัญทุกบริษัทพัฒนาเมืองล้วนเคยเขียนแผนการพัฒนามาแล้วทั้งสิ้น
ขณะนี้ขอนแก่นอยู่ระหว่างการจัดทำแผนขนาดใหญ่ ก่อนที่จะคิดหาวิธีนำเสนอของบประมาณไปดำเนินการตามแผนให้สำเร็จ โดยต้องใช้หลากหลายรูปแบบเข้าไปดำเนินการ อาทิ ตลาดทุน งบประมาณภาครัฐ สนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน เป็นต้น
ปัจจุบันขอนแก่นติด 1 ใน 22 เมืองที่อยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนให้เป็นเมืองอัจฉริยะ หลายจังหวัดเดินทางมาถอดบทเรียนเพื่อนำไปปรับใช้กับแต่ละจังหวัด ต่อนี้ไปจึงต้องเร่งลงมือทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้จริง
คำถามคือ ส่วนไหนที่จะเหลือให้เทศบาลเป็นเจ้าของได้ จนลงตัวที่ “รถไฟฟ้า” สามารถระดมทุนไปดำเนินการ และสร้างรายได้เอง กลุ่มต่างๆในจังหวัด อาทิ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ให้ความร่วมมืออย่างดี
“เคเคทีที. ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่เมืองพอร์ตแลนด์ สหรัฐอเมริกา พร้อมกับลงนามบันทึกความร่วมมือต่อกันซึ่งเมืองนี้จัดว่าเป็นเมืองขนส่งมวลชนจริงๆดังจะเห็นชัดว่ามีการทุบทางด่วนออกไปไป แล้วหันมาเน้นใช้ระบบรางในภาคการขนส่ง เป็นต้น”
ได้มีการยกระดับการขับเคลื่อนสู่ยุทธศาสตร์จังหวัดอย่างไร
ปัจจุบันขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ได้ยกระดับเป็นยุทธศาสตร์จังหวัด ด้วยการเร่งขับเคลื่อนระบบรางเพื่อใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนเพื่อไม่ให้เป็นภาระของประเทศ ช่วยยกระดับท้องถิ่นให้เข้มแข็ง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบราชการเพื่อยกระดับองค์กรให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตด้วยกระดาษ 5 แผ่นนั่นเอง
นอกจากนี้ รัฐบาลกลางยังเปิดโอกาสให้ขอนแก่นผลักดันงบประมาณของตนเอง จนได้ที่ดินที่จะนำมาพัฒนาโครงการ ใช้วิธีการระดมทุนมาเป็นแนวทางการพัฒนาโดยมีแผนลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทซึ่งหากระดมทุนได้ตามเกณฑ์นี้
เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์จะได้วงเงินประมาณ 10 เท่าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐหรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยเป็นงบประมาณของเทศบาลที่จะนำไปพัฒนาโครงการโดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.ของจังหวัด)เข้ามาควบคุมการพัฒนาโครงการ
ปัจจุบันการบูรณาการหลายภาคส่วนเริ่มเห็นผลของการขับเคลื่อนแม้จะไม่รวดเร็วแต่ก็มีความคืบหน้าตามลำดับ ในอีกไม่นานหลังจากนี้คงจะได้เห็นภาพความเป็น “ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้” ชัดเจนยิ่งขึ้น จากหลักการขับเคลื่อนเมืองด้วยเทคโนโลยี พลิกโฉมเมืองขอนแก่น ควบคู่ไปการพัฒนาระบบรางและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการได้อย่างยั่งยืน ตลอดไป