คมนาคม

ฟังเสียงชาวสองแควศึกษาระบบราง

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของโครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาพัฒนาเมือง กับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง “TOD คมนาคมสร้างเมือง เมืองสร้างสุข  สุขสร้างได้” ณ ห้องเรือนหยาดเพชร โรงแรมเรือนแพ รอยัล ปาร์ค จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันนี้ 29 มีนาคม 2562 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ท้องถิ่นไทย ร่วมสร้าง เมืองสร้างสุข”ซึ่งเป็นการแนะนำโครงการฯ และระดมความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุน และภาคประชาชน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเมือง เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศ ตามแนวคิด TOD (Transit Oriented Development) ให้สัมฤทธิ์ผลต่อไป

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กล่าวว่า แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย  (พ.ศ. 2558-2565) มุ่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทุกโครงข่าย ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และ ทางอากาศ ให้เชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว (SeamlessMobility) เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม เสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางครั้งใหญ่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแกนหลักในการเดินทางและขนส่งของประเทศ และทำให้เกิดสถานีขนส่งหรือจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่มีศักยภาพ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) จึงเป็นหัวใจสำคัญ ในการชี้นำการพัฒนาเมือง ชุมชน และสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญไปยังภูมิภาคตามแนวสายทาง ตลอดจนเอื้อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรม แหล่งงาน แหล่งที่พักอาศัย และกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม สร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาพื้นที่ ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนและการเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตกับประชาชน

ภายในงานมีการจัดเสวนาเรื่อง “TOD ภาคเหนือ ร่วมกันสร้างได้อย่างไร?” โดยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ นำเสนอความเป็นมาและนโยบายของกระทรวงคมนาคมกับการพัฒนาพื้นที่ตามแนวคิด TOD เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ความท้าทายของการพัฒนาเมืองตามแนวคิด TOD ในประเทศไทย โดยเฉพาะในภูมิภาคและท้องถิ่น นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นำเสนอแผนการพัฒนาโครงข่ายระบบรางทั่วประเทศ ความก้าวหน้าของโครงการในพื้นที่ภาคเหนือ แนวคิดและแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีรถไฟ

นายวิรัช ปัญญาทิพย์สกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท พิษณุโลกพัฒนาเมือง จำกัด นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับโอกาสและศักยภาพในการพัฒนา TOD ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง รถไฟสายใหม่ และรถไฟทางคู่ในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง ย่าน หรือชุมชนตามหลัก TOD และ รศ.ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร์ ผู้จัดการโครงการ นำเสนอข้อมูลโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ขอบเขตการศึกษา ความก้าวหน้าของโครงการ ประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้รับ และความท้าทายของการพัฒนาเมืองตามแนวคิด TOD ในภูมิภาคและท้องถิ่น นอกจากนี้ ภายในงานได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการ อาทิ แนวคิดการพัฒนา TOD ให้ประชาชนรู้จักว่า TOD คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร และประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนา TOD เป็นต้น

สำหรับโครงการนี้ มีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองโดยรอบแนวโครงข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่และจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่มีศักยภาพของประเทศ เพื่อเป็นกรอบชี้นำการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบคมนาคม มีระยะเวลาศึกษา 18 เดือน โดยภายหลังการสัมมนาครั้งนี้ สนข. จะดำเนินการจัดสัมมนาขึ้นอีก 3 ครั้ง ในอีก 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออก ที่ จ.ชลบุรี ในวันอังคารที่ 2 เมษายน 2562

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น ในวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2562 และภาคใต้ ที่ จ.สงขลา  ในวันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2562 และนอกจากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ครั้งนี้ สนข.ยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การประชุมกลุ่มย่อย การเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ และการสัมภาษณ์เชิงลึกต่อไป เพื่อรวบรวมข้อมูลมาประกอบผลการศึกษา การจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง สถานีรถไฟทางคู่ ศูนย์คมนาคมขนส่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศต่อไป ผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลหรือดูรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandtod.c

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button