สังคมไทยมุง

“บัณฑิตอาสา” กับการลงทุนทางสังคม

“บัณฑิตอาสา” กับการลงทุนทางสังคม

โดย รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กระทรวงน้องใหม่แกะกล่อง ได้แถลงผลงานรอบ 3 เดือนซึ่งมีโครงการมากมายที่มุ่งพัฒนากำลังคน งานวิจัย และนวัตกรรมของประเทศ

โดยโครงการที่สามารถเรียกเสียงฮือฮาจากประชาชนและโลกสังคมออนไลน์ได้เป็นอย่างมากคือ “โครงการบัณฑิตอาสา” ที่จะเริ่มต้น Kick off ในต้นปี 2563 ด้วยการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 50,000 คนเป็นระยะเวลา 1 ปีให้นำองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ไปพัฒนาพื้นที่ชนบทเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้าน

แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน คำว่า “บัณฑิตอาสา” คือ ต้องเป็นจิตอาสาที่แท้จริง รู้จักเสียสละทำงานเพื่อผู้อื่นและประเทศชาติ ซึ่งถึงแม้จะมีค่าตอบแทนที่หลายคนอาจวิพากษ์วิจารณ์ว่าน้อยเกินไป ไม่คุ้มกับความยากลำบากในชนบท ก็ต้องพึงระลึกถึงคำว่า “อาสา” ไว้ด้วย

นอกจากนั้น กระทรวง อว. จะจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะ เช่น Design Thinking และทักษะความเป็นผู้ประกอบการ ให้กับบัณฑิตจบใหม่ที่เข้าร่วมโครงการเป็นระยะ 2 เดือนก่อนลงพื้นที่ชุมชน

พูดง่าย ๆ ติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กก่อนที่จะส่งตัวลงพื้นที่ชนบทเพื่อฝึกวิทยายุทธในสถานการณ์จริง ชีวิตจริง ปัญหาจริง

ฟังดูคร่าว ๆ โครงการนี้จะเป็นทั้งมาตรการพยุงสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางในปีหน้าและยังถือเป็นการลงทุนทางสังคม (Social Investment) ด้วย เพราะทั้งช่วยลดอัตราการว่างงาน ช่วยหยิบยื่นโอกาสให้เด็กจบใหม่ได้เรียนรู้จริง และช่วยปลูกฝังความเสียสละและความเป็นจิตอาสาให้แก่คนรุ่นใหม่

ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวตามแนวคิด “Less for More” ของไทยแลนด์ 4.0

ที่จริงแล้ว โครงการบัณฑิตอาสาไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในเวทีโลก โดยเฉพาะสำหรับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก อย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวมีคนตกงานมากกว่า 15 ล้านคนหรือร้อยละ 20 ของประชากรในขณะนั้น จนทำให้ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่านโยบาย New Deal เน้นการจ้างประชาชนให้ทำงานแก่รัฐ ตั้งแต่ก่อสร้างถนน เขื่อน สะพาน และปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ

ทั้งนี้ หนึ่งในโครงการ New Deal ที่เป็นต้นตำรับของบัณฑิตอาสา คือ โครงการ Civilian Conservation Corps (CCC) ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจ้างคนวัยหนุ่มอายุระหว่าง 18-25 ปีมากกว่า 500,000 คน ให้ปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตลอดจนปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและถนนหนทางในชนบทที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

ต่อมา โครงการที่คล้ายกับ CCC ก็ถือกำเนิดขึ้นภายใต้แนวคิดเดียวกันคือ การหยิบยื่น “โอกาส” และ “งาน” ให้แก่อเมริกันชนวัยหนุ่มสาว ได้แก่ โครงการ Peace Corps Volunteer (อเมริกันจิตอาสาทำงานในต่างประเทศ) และโครงการ VISTA หรือ Volunteer in Service to America (อเมริกันจิตอาสาทำงานในสหรัฐอเมริกา) ที่เกิดขึ้นในยุคประธานาธิบดี John F. Kennedy และโครงการ Habitat for Humanity ของประธานาธิบดี Jimmy Carter ซึ่งต่อมาประธานาธิบดี Bill Clinton ได้ขยายขอบเขตของโครงการทั้งหมดนี้และร่วมมือกับเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งเป็น “AmeriCorps” ที่จ้างคนรุ่นใหม่มากกว่า 75,000 คนต่อปีให้ทำงานรับใช้สังคม นับตั้งแต่ปี 2536 ถึงปัจจุบัน

โครงการ AmeriCorps ไม่ได้มีคุณค่าในเชิงนโยบายเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีคุณค่าในเชิงสังคม คือ เป็นแหล่งบ่มเพาะผู้นำระดับประธานาธิบดีถึง 2 ท่าน คือ Bill Clinton และ Barack Obama รวมทั้งยังทำให้เกิดกระแสทางสังคมจนกลายเป็น Social Movement เกี่ยวกับ “การรับใช้ประเทศในฐานะพลเรือน” จนกระทั่งนักการเมืองทั้งจากพรรค Republican หรือพรรค Democrat ต่างให้การสนับสนุน

กล่าวกันว่า แม้แต่ประธานาธิบดี Trump ที่ต้องการยุบเลิกโครงการ AmeriCorps ก็ต้องหงายหลังด้วยแรงต้านทานจากสภาคองเกรสที่ผนึกกำลังพิทักษ์ AmeriCorps

สำหรับโครงการยุวชนอาสาในจีนมีความเป็นมาที่คู่ขนานกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มต้นจากนโยบาย “ขึ้นเขาลงชุมชน” ของท่านประธานเหมาที่ส่งคนวัยหนุ่มสาว 17 ล้านคนไปทำงานและเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตในพื้นที่ชนบทและชายแดนของประเทศ แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้คนวัยหนุ่มสาวขาดโอกาสศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ก็ถือว่าเป็นนโยบายที่ “สร้าง” ผู้นำจีนหลายท่านในปัจจุบัน แม้กระทั่งประธานาธิบดีสีจิ้งผิงก็เคยเข้าร่วม “ขึ้นเขาลงชุมชน” เป็นเวลาหลายปี

นโยบายยุวชนอาสาของจีนมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันได้กำหนดหน้าที่ของยุวชนอาสาชัดเจนมากขึ้น คือ ให้รับผิดชอบถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ให้กับชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท รวมทั้งมีเงินเดือนค่าตอบแทนที่เป็นแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูง ล่าสุดรัฐบาลจีนก็มีโครงการ “Serve for China” ที่ร่วมทุนกับเอกชนจ้าง “บัณฑิตใหม่” จากต่างประเทศให้นำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยยกระดับ SMEs และวิสาหกิจชุมชน

แม้ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ล้วนมีนโยบายส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสสัมผัส “ชีวิตจริง” เพื่อเรียนรู้ “ทักษะชีวิต” และเรียนรู้ “ความเสียสละเพื่อผู้อื่น”

โครงการบัณฑิตอาสาของกระทรวง อว. จึงไม่ใช่แค่ “แพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ” แต่จะเป็นการลงทุนทางสังคมที่จะทำให้ “คนรุ่นใหม่” เป็น “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (Change Maker)” อย่างสร้างสรรค์ และเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง จนเกิด “We” Society (สังคมของพวกเรา)” แทนที่ “Me” Society (สังคมของพวกฉัน)

ไม่แน่ว่า อีก 10-20 ปีข้างหน้า เราอาจจะเห็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เป็นน้อง ๆ ศิษย์เก่าของโครงการบัณฑิตอาสากระทรวง อว. ก็ได้

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button