เดินหน้าโรงไฟฟ้าแทนแม่เมาะเครื่องที่ 4-7
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 – 7 ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ให้ดำเนินโครงการฯ ด้วยขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 โดยให้ขยายกำลังการผลิตเป็น 655 เมกะวัตต์แล้ว
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ กล่าวต่อว่า โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 – 7 ซึ่ง อยู่ระหว่างดำเนินการทดสอบเดินเครื่องเพื่อเตรียมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในปี 2562 จะใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าร่วมกับเทคโนโลยี Ultra – super Critical (USC) ที่มีความทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน โดยใช้ระบบหม้อไอน้ำ (Boiler) ที่ผลิตไอน้ำด้วยอุณหภูมิและแรงดันที่สูงขึ้น การเผาไหม้จึงมีประสิทธิภาพมากขึ้นและ ใช้ปริมาณเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลดลงประมาณ 20% ส่งผลให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่น้อยลง เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี Subcritical แบบเดิม นอกจากนี้ ยังติดตั้งเทคโนโลยีกำจัดมลสารที่ทันสมัย ประกอบด้วย อุปกรณ์เครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Selective Catalytic Reduction : SCR) เครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator : ESP) ที่สามารถกำจัดฝุ่นได้มากกว่า 99.9 % จากนั้นนำมาส่งผ่านเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulfurisation : FGD) ซึ่งจะมีการพ่นสเปรย์น้ำหินปูนเพื่อกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ฯ และยังให้ผลพลอยได้เป็นการช่วยดักจับฝุ่นที่เหลืออยู่อีกขั้นตอนหนึ่ง โดยจากการทดสอบล่าสุดพบว่าช่วยดักจับฝุ่นในภาพรวมได้ถึง 99.98% ทั้งนี้ การติดตั้งระบบดังกล่าวช่วยให้ การปล่อยมลสารต่างๆ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าได้ติดตั้งเครื่องควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกรมควบคุมมลพิษแบบ Real Time (ตามเวลาจริง 24 ชั่วโมง) จึงมั่นใจได้ว่ามลสารที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะมีค่าดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานและไม่เป็นต้นเหตุของการเกิด ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันค่าฝุ่น PM2.5 ในบริเวณแม่เมาะนั้นมีค่าต่ำกว่าพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียงกัน
“นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคนโยบาย มอบหมายให้ประสานร่วมมือกับทางจังหวัด และชุมชนชาวแม่เมาะ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาโครงการแม่เมาะเมืองอัจฉริยะ (Mae Moh Smart City) ที่มีการบริหารจัดการด้านพลังงาน และด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป็นเมืองอัจฉริยะ แห่งหนึ่งของประเทศในอนาคต อาทิ สนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศในการทำเกษตรกรรมเพื่อ สร้างรายได้ที่คาดการณ์ได้ สร้างหมู่บ้านป่าไม้ชุมชน รวมถึงใช้ในการบริหารจัดการฝายชุมชน ตลอดจนทดลองใช้ Application รถโดยสารที่สามารถระบุตำแหน่งสถานีชาร์จรถไฟฟ้ากับรถบริการ EGAT EV ของ กฟผ. ร่วมกับการท่องเที่ยวลำปาง เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนตลอดเส้นทางจากตัวเมืองมายังแม่เมาะ ซึ่งโครงการ แม่เมาะเมืองอัจฉริยะจะช่วยให้ประชาชนในหมู่บ้านแม่เมาะมีสุขภาพดี มีไฟฟ้าใช้ไม่ดับ ป่าไม้ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชม พร้อมมุ่งสู่ศูนย์อาหารชีวภาพและพลังงานสีเขียวอย่างยั่งยืน” โฆษก กฟผ. กล่าวในที่สุด