GPSC นำร่องติด ESS ใน PTT Station ศูนย์วิจัยวังน้อยเพิ่มศักยภาพการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
GPSC ลุยติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เชิงพาณิชย์ นำร่องสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น และร้าน คาเฟ่ อเมซอน (PTT Station-Cafe Amazon) สาขาศูนย์วิจัยวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา แห่งแรกของ OR ต่อยอดโครงการติดตั้ง Solar Rooftop ก้าวสู่ สมาร์ท เอนเนอยี่ โซลูชั่น เดินหน้าเปิดใช้งานอีก 2 แห่งไตรมาสแรก ปี 63 มั่นใจระบบสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนพลังงานให้กับสถานีบริการในทุกช่วงเวลา เตรียมเจาะตลาดกลุ่มอุตสาหกรรม และสถานประกอบการ ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมสร้างองค์ความรู้ภาคครัวเรือน เข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมพลังงาน
นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารสินทรัพย์ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ GPSC ได้ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน (Digital Platform) ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น และร้าน คาเฟ่ อเมซอน (PTT Station และ Cafe Amazon) ไปแล้วนั้น ล่าสุด GPSC ได้เปิดตัวด้วยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) นำร่อง (Pilot Project ) ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น และร้าน คาเฟ่ อเมซอน สาขาศูนย์วิจัยวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นแห่งแรก ที่สามารถใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายที่จะติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น และร้าน คาเฟ่ อเมซอน เพื่อการศึกษาและพัฒนาระบบ สมาร์ท เอนเนอยี่ โซลูชั่น (Smart Energy Solution) เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง คือ สถานีน้ำมัน สาขามีนบุรี และ สาขาจอมเทียน พัทยา คาดว่าจะเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2563
ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว เป็นระบบ สมาร์ท เอนเนอยี่ โซลูชั่น ที่ประกอบด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่ง GPSC จะออกแบบการติดตั้งระบบที่คำนึงถึงโครงสร้างของอาคาร ที่สามารถรองรับการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา รวมถึงการประเมินปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่การออกแบบระบบการกักเก็บพลังงานให้เหมาะสม
“การติดตั้งระบบ ระบบ ESS ดังกล่าวนับเป็นโมเดลของเทคโนโลยีและการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานของกลุ่ม ปตท. อย่างแท้จริง โดยมุ่งหวังให้เกิดศักยภาพการดำเนินงานทางด้านนวัตกรรมพลังงาน และเป็นผู้นำในการนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมกับพลังงานทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถขยายผลไปในเชิงพาณิชย์ให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต”
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับสถาบันนวัตกรรม ปตท. ในการออกแบบและพัฒนาระบบ ESS รวมถึงระบบสั่งการและควบคุมผ่านมือถือ (Mobile Software) เพื่อการควบคุมสั่งงานระบบ ESS เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้า ผ่านการควบคุมระยะไกล โดยสามารถเก็บข้อมูลช่วงเวลาของการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบเรียลไทม์ (Real Time)ที่สามารถเลือกแหล่งจ่ายไฟฟ้า ทั้งจากระบบ ESS และระบบสายส่งของการไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือในช่วงเวลาที่ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวัน (Peak Time) เพื่อให้ต้นทุนการใช้ไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันลดลง ข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน จะมีการจัดเก็บไว้ในระบบ คลาว เซอร์เวอร์ (Cloud Server) ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลการใช้งานได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทฺธิภาพ
“การพัฒนาระบบ ESS บริษัทฯ ยังได้ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ ระบบระบายความร้อน และระบบระบบป้องกันเพื่อความปลอดภัย (Safety Protection) ตามมาตรฐานที่กำหนด อีกทั้งยังทดสอบจนมีความมั่นใจ เพื่อความปลอดภัยสูงุสุดของผู้ใช้อีกด้วย” นายศิริเมธ กล่าว