อสังหาริมทรัพย์

“สินแร่และวัสดุก่อสร้าง” ทางออกของรัฐบาลก่อนวิกฤติ

ช่วงต้นปี 2561 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าได้รับการร้องเรียนจากบรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างว่า  วัสดุก่อสร้างประเภท ดินลูกรัง ทรายถมที่ ทรายหยาบ ทรายละเอียด หินคลุก หินย่อย รวมไปถึงยางมะตอย  เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนและตึงตัวในหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา  เพราะในพื้นที่เหล่านี้มีการขยายตัวด้านงานก่อสร้างทั้งเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล และการลงทุนของภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ  จึงเกิดการแย่งชิงและกักตุนวัสดุก่อสร้าง

นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เคยให้ความเห็นในกรณีนี้ไว้ว่า สถานการณ์วัสดุก่อสร้างขาดแคลนก็เนื่องมาจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐเริ่มก่อสร้างพร้อมๆกันหลายโครงการ  ทำให้เกิดความต้องการวัสดุก่อสร้างจำนวนมาก  และอาจจะส่งผลต่อราคาให้เพิ่มสูงขึ้นหากสินค้ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการในขณะนั้น

สถานการณ์ดังกล่าวรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงปลายปี 2561 เมื่อเกิดวิกฤติหินก่อสร้างขาดแคลนถึงขนาดที่บางพื้นที่ต้องสั่งนำเข้าหินก่อสร้างจากประเทศเพื่อนบ้าน  โดยเบื้องลึกเบื้องหลังก็สืบเนื่องจากการเกิดสูญญากาศในกระบวนการพิจารณาต่อใบอนุญาตโรงโม่หินทั่วประเทศ  ซึ่งสาเหตุมาจากความล่าช้าในการออกพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่  ต่อเนื่องถึงการวางยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และการออกแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ 5 ปีที่กว่าจะสรุปได้ก็ล่วงเข้ามาถึงปี 2562 ซึ่งภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ชาวบ้านรู้สึกว่า “รวยกระจุก-จนกระจาย”  (แต่รัฐบาลอ้างมาตลอดว่าแค่ชะลอตัวแต่ยังเติบโต)  ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าของสองมหาอำนาจโลก “สหรัฐอเมริกา – สาธารณรัฐประชาชนจีน” ทำให้การส่งออกของไทยถดถอยยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ภายในประเทศ  บรรยากาศการค้า การผลิต และการก่อสร้างภาคเอกชนที่เงียบเหงาทำให้ปัญหาวัสดุก่อสร้างแพงและขาดแคลนเงียบเสียงไปด้วยโดยปริยาย

แต่รัฐบาลและส่วนงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้จะยินดีกับความเงียบดังกล่าว  แล้วรอเวลาให้ปัญหาปะทุขึ้นมาใหม่ในยามเศรษฐกิจฟื้นตัวกระนั้นหรือ?

ในมุมมองของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสินแร่และวัสดุก่อสร้างเห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควรจะมีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้าง  มองโลกแห่งความเป็นจริง  มีแผนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและแผนรับมือในระยะยาว

รัฐบาล คสช.ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันสร้างฝันคนทั้งประเทศด้วยโครงการเมกะโปรเจกต์ที่เน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 44 โครงการ มูลค่ารวม 1.947 ล้านล้านบาท เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 17 โครงการ วงเงิน 7.82 แสนล้านบาทโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วและเตรียมดำเนินการ 12 โครงการ วงเงิน 4.12 แสนล้านบาทโครงการที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ( PPP) เห็นชอบแล้วและเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี 2 โครงการ วงเงิน 2 แสนล้านบาทและอีก 13 โครงการ วงเงินลงทุน 5.51 แสนล้านบาท รอเสนอคณะรัฐมนตรี

ในหลายเมกะโปรเจกต์จะไปอยู่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ตั้งงบลงทุนในปี 2562-2566 ไว้สูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท อาทิ ท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ- ดอนเมือง- อู่ตะเภา)

แน่นอนว่าโครงการเหล่านี้ต้องถูกผลักดันให้เดินหน้าอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดรูปธรรมที่จะสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนและประชาชนที่รอคอยความหวังว่าเศรษฐกิจจะพลิกฟื้น  ซึ่งเมื่อหลายโครงการเริ่มลงมือก่อสร้างพร้อมกันในช่วงปี 2563-2565 ความต้องการวัสดุก่อสร้างก็จะขยับตัวสูงขึ้นตามลำดับ  จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องกำชับแต่ละภาคส่วนให้เตรียมรับมือแต่เนิ่นๆนับแต่การออกประทานบัตร  ใบอนุญาต  ปริมาณการผลิต  การควบคุมคุณภาพ และราคาที่เป็นธรรม

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการเหมืองแร่ 9 บริษัทได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอให้ทั้งสองกระทรวงประสานงานกันปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการอื่นในพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เปิดช่องให้เขตปฏิรูปที่ดิน หรือสปก. ที่มีสภาพเป็นหิน ดินทราย ดินลูกรังหรือเหมืองแร่ซึ่งไม่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรมถูกนำมาใช้ในกิจการเหมืองแร่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับรัฐและเกษตรกร

ขณะเดียวกันรัฐบาลควรจะพิจารณาแก้ปัญหาการส่งออกแร่ที่มีแนวโน้มทรงตัวและลดลง  สาเหตุหนึ่งก็เพราะเมื่อปลายปี 2561 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับเพิ่มค่าภาคหลวงแร่ส่งออกราชอาณาจักรจาก 4% เป็น7% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญและเสียตลาดจนถึงปัจจุบัน

การนำหินและสินแร่ที่มีอยู่ใต้ดินขึ้นมาใช้อย่างเหมาะสมภายในประเทศรวมถึงการส่งออก  เพื่อช่วยแก้ไขวิกฤติชาติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  เป็นการสร้างงาน  สร้างผลผลิตตอบสนองความต้องการของตลาด  และป้องกันปัญหาในอนาคต  คือ ทางเลือกที่รัฐบาลควรพิจารณาอย่างรอบด้านและรวดเร็ว

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button