อสังหาริมทรัพย์

“น้าสน”หนุนรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้ B20 เพื่อช่วยลดต้นทุนและได้ช่วยเกษตรกร

หลังจากกระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมน้ำมันดีซล  B10  จนราคายกระดับขึ้นใกล้แตะที่กิโลกรัมละ 6 บาทแล้ว ล่าสุด “น้าสน” เชื่อมโยง Energy for All เปิดงานอินเตอร์เนชันแนล ทรัคโชว์ หนุนรถบรรทุกขนาดใหญใช้ B20 เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการและค่าครองชีพของประชาชน มีส่วนแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มได้ช่วยเหลือเกษตรกรด้วย

วันนี้ (14 ธ.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ของสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และงานอินเตอร์เนชันแนล ทรัคโชว์ 2019 ที่จ.นครสวรรค์ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางพลังงานภาคการขนส่งจะไปทางไหน B20 หรือรถไฟฟ้า” ในประเด็นสำคัญว่า สมาคมฯ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนนที่ใช้รถบรรทุกเป็นหลัก ซึ่งนับว่ามีความสำคัญในการสนับสนุนการกระจายการค้าภายในประเทศและในกลุ่มอาเซียน เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เกิดการหมุนเวียนสินค้า สร้างความเจริญให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ และการจัดงานอินเตอร์เนชั่นแนล ทรัคโชว์ 2019 แสดงนวัตกรรมยานยนต์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดระบบจัดการขนส่งที่ดีขึ้นมีคุณภาพได้มาตรฐาน

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาภาคขนส่งเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานสูงสุดในสัดส่วน 40% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ ซึ่งรถภาคขนส่ง ส่วนใหญ่จะเป็นรถดีเซลที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่สะอาดมีส่วนช่วยลด PM2.5 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

ที่ผ่านมา สิ่งที่กระทรวงพลังงานได้ทำไปแล้วคือการยกระดับการใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากปาล์มที่ B7 ไปเพิ่มส่วนผสมน้ำมันปาล์มดิบสัดส่วนสูงขึ้นเป็น B10 ใช้สำหรับรถยนต์ดีเซลทั่วไป และมี B20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการและค่าครองชีพของประชาชน มีส่วนช่วยแก้ปัญหาน้ำมันปาล์ม สร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรได้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยายามเร่งขับเคลื่อนมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้กับเครื่องยนต์และคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานใหม่ได้ภายใน ปี 2567

สำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้น ก็เป็นมาตรการหนึ่งของการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558 – 2579 (EEP 2015) ตั้งเป้าหมายส่งเสริมรถ EV ในปี 2579 รวม 1.2 ล้านคัน ซึ่งล่าสุดก็ได้เปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าติดฉลากเบอร์ 5 ของ กฟผ. ไปแล้ว นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของรถ EV ในประเทศไทย
โดยแผนส่งเสริม EV จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เพื่อพัฒนาแผนส่งเสริมการใช้ การสนับสนุนด้านภาษี และทำให้เกิดการสร้างฐานการผลิตในประเทศ ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าสามารถช่วยลดมลพิษในเขตเมือง ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมให้เมืองน่าอยู่ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อสร้างระบบแบตเตอรี่สำรองที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าเพื่อรองรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับ EV และโครงการระบบรางต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมืองรอบกรุงเทพฯ ที่เป็นสถานีหลัก โดยจะถูกบรรจุอยู่ในโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าต่าง ๆที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button