สังคมไทยมุง

“ทุ่งช้างโมเดล”ขับเคลื่อนเต็มสูบด้วยพลังสร้างสรรค์ของคนน่านมุ่งสู่ต้นแบบพัฒนาเมือง

สกสว. จับมือจุฬาฯผนึกทุกภาคส่วนระดมสมองสร้างเครือข่ายคณะทำงาน 4 มิติ มุ่งพัฒนาทุ่งช้าง สู่เมืองน่านน่าอยู่ น่าดู ทั้งการเกษตรและท่องเที่ยวตลอดทั้งปี มีคนน่านทุกเพศทุกวัยทุกสาขาอาชีพร่วมพลังสร้างสรรค์เป็นต้นแบบพัฒนาเมือง

น.ส.ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม นักวิจัยจากสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “พัฒนาทุ่งช้าง สู่เมืองน่านน่าอยู่ ต้นแบบของการพัฒนาชุมชนสู่การพัฒนาเมือง” ร่วมกับนายเกรียงไกร เวชอนุรักษ์ นายอำเภอทุ่งช้าง และนายแพทย์มงคล ลัคนาเลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งช้าง โดยจัดการประชุมชี้แจงโครงการและระดมความคิดเห็นในการดำเนินงานวิจัยกับภาคประชาชน (เวทีสาธารณะ)

ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจ และระดมความคิดเห็นในการพัฒนาเมืองและสร้างเครือข่ายคณะทำงานร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่อำเภอทุ่งช้าง เพื่อขับเคลื่อนโครงการวิจัย พัฒนาทุ่งช้าง สู่เมืองน่านน่าอยู่ ต้นแบบของการพัฒนาชุมชนสู่การพัฒนาเมือง

4 องค์กร 4 มิติ แกนหลัก

น.ส.ธัญศิภรณ์ กล่าวว่าก่อนหน้านี้ได้มีการประชุม Focus group โดยมีแกนนำหลักในการดำเนินงาน 4 มิติ คือ 1.มิติด้านการเกษตร 2.มิติด้านการท่องเที่ยว 3.มิติด้านการศึกษา และ 4.มิติด้านสุขภาพ โดยการใช้เครือข่ายคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอําเภอ (พชอ.) เป็นเครื่องมือหลักของการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนสู่การพัฒนาเมือง

“โดยหลักการจะมี 4 กระทรวงเข้าร่วมบูรณาการความร่วมมือต่อกัน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย คือ นายอำเภอ เป็นตัวแทน กระทรวงสาธารณสุข คือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นตัวแทน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องวางแผนร่วมกัน ร่วมเป็นคณะกรรมการ จำนวนไม่เกิน 10 คนเพื่อขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมืองร่วมกัน”

ทั้งนี้ได้ดำเนินการลดอุบัติเหตุจนเป็นศูนย์ และได้รับรางวัลระดับประเทศสำเร็จมาแล้ว เริ่มจากคนกลุ่มเล็ก ๆ โดยใช้เครื่องมือพชอ.เป็นตัวขับเคลื่อน แผนต่อไปคือการเร่งผลักดันด้านอาชีพให้กับชาวทุ่งช้าง ให้พื้นที่มีอาชีพ มีงานที่สามารถรองรับคนวัยทำงานซึ่งปัจจุบันออกไปทำงานนอกพื้นที่กันเป็นจำนวนมากได้กลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ให้เกิดความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

รักบ้านเกิดกลับมาพัฒนา

หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันทุ่งช้างอาชีพหลักยังเน้นเกษตรกรรม ซึ่งหากสามารถเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักอย่างยั่งยืน หรือพัฒนาอาชีพใหม่ขึ้นมาเพิ่มน่าจะมีส่วนผลักดันให้คนวัยทำงานได้หวนกลับมาร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่ทุ่งช้างได้อย่างยั่งยืน

“เบื้องต้นได้ให้ความสำคัญด้านการสื่อสารเรื่องการพัฒนาเมือง เนื่องจากคนวัยที่สื่อสารได้รวดเร็วพบว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ มีคนวัยสูงอายุกับวัยเด็กจะอยู่อาศัยในพื้นที่จนเกิดเป็นสาเหตุให้เกิดช่องว่างขึ้น ขาดการเชื่อมต่อของช่วงวัยซึ่งถือเป็นอุปสรรคของการพัฒนาเมือง จึงต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการหาแหล่งงาน หาอาชีพให้เกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อดึงคนวัยสื่อสาร วัยทำงานกลับคืนสู่พื้นที่โดยเร็ว” หัวหน้าโครงการวิจัยฯกล่าวและชี้แจงว่า

แม้จังหวัดน่านจะเด่นด้านการท่องเที่ยว แต่ยังต้องมีด้านอื่นๆที่จะต้องเร่งผลักดันได้อีกมากมาย ประการแรกคณะทำงานได้เร่งดำเนินการด้านอาชีพโดยเป็นที่ทราบกันว่าด้านการเกษตรเป็นจุดเด่นของทุ่งช้าง ไม่ว่าจะเป็นส้มสีทองทุ่งช้างพันธุ์ดี รสชาติหวานหอมอร่อย เงาะโรงเรียน กรอบ ร่อน อร่อย อีกทั้งยังสามารถปลูกไม้ผลอื่นๆได้อย่างดีอีกด้วย

หลากภูมิประเทศ-หลายชาติพันธ์ุ

แต่มีน้อยรายมากที่ชาวทุ่งช้างหรือคนอื่นๆในประเทศจะรู้ลึกจริง ๆซึ่งอาจเป็นเพราะกลไกทางการตลาด หรือด้านเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นหากสามารถยกระดับการพัฒนาคุณภาพ ศักยภาพให้ดีขึ้นไปอีกน่าจะมีส่วนสำคัญต่อการยกระดับของเกษตรกรในทุ่งช้างให้สอดคล้องด้านการตลาดที่เด่นด้านคุณภาพตามที่ตลาดต้องการจริงๆได้

นอกจากนี้ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ยังชี้แจงด้วยว่าประการสำคัญพื้นที่ทุ่งช้างยังร้อยเรียงไปด้วยหุบเขาสูง – ต่ำที่สวยงาม มีวิถีชนเผ่าที่หลากหลายชนชาติพันธุ์ วิถีการทอผ้ายังได้รับความสนใจจากชาวทุ่งช้าง ส่วนด้านประวัติศาสตร์ยังเป็นเมืองของการต่อสู้หรือสมรภูมิรบที่เกี่ยวโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและอีกหลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทย

“แม้จะเป็นเมืองชายแดนของไทยล่าสุดการพัฒนาถนน 8 เลนยังส่งผลให้การเดินทางสู่จังหวัดน่านได้รับความสะดวกสบาย สามารถเชื่อมไปยังด่านห้วยโก๋นที่เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ได้รวดเร็วขึ้น”

วิถีชีวิตตอบโจทย์พัฒนาเมือง

ดังนั้น มิติด้านการท่องเที่ยวจึงมีส่วนช่วยขับเคลื่อนด้านการนำพาเศรษฐกิจมายังจังหวัดน่าน ก่อให้เกิดการซื้อ ขาย สินค้าในพื้นที่ ปัจจุบันชาวทุ่งช้างได้ลุกขึ้นมายกระดับการพัฒนาพื้นที่กันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ภาคเอกชน ประชาชนมีความตื่นตัวกันมากขึ้น ชวนคิด ชวนคุยจึงเป็นวงการแลกเปลี่ยนความคิดของทุกฝ่าย

“สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงร่วมกับกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเปิดโอกาสให้นักวิจัยเข้ามาบูรณาการร่วมมือผลักดันโครงการในครั้งนี้ร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาชนในพื้นที่” หัวหน้าโครงการวิจัยฯกล่าวและย้ำว่า

การพัฒนาเมืองต้องตอบโจทย์กับบริบทและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมกันขับเคลื่อน ส่วนภาครัฐสนับสนุนงบประมาณ ประการสำคัญทุ่งช้างเที่ยวได้ทั้งปี คำนี้ยังมีเสน่ห์ให้กับเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ แต่จะชี้ให้เห็นได้อย่างไรบ้างว่าช่วงนี้มีเทศกาล งานต่างๆจัดขึ้นในพื้นที่ มีแหล่งท่องเที่ยวแห่งไหนที่รอนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมเยือน ให้ได้รับการผลักดันออกมาเป็นที่แพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น ด้วยการสื่อสารในหลายมิติ

“จังหวัดน่าน โดยเฉพาะอำเภอทุ่งช้างยังเป็นเมืองรองที่ควรจะได้รับการโปรโมทจากรัฐบาลได้อีกมากมาย รัฐควรเร่งสนับสนุนงบประมาณไปดำเนินการ เพื่อให้ทุ่งช้างและจ.น่านเป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองด้านการเกษตรที่สามารถขับเคลื่อนด้วยกลไกคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ได้อย่างลงตัวจริงๆด้วยเครือข่ายพชอ.ที่พร้อมขยายวงกว้างไปสู่มิติต่างๆได้อย่าวราบรื่น” หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวในตอนท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button