คมนาคม

ทช. เผยผลงานสำคัญในรอบ 4 เดือนพร้อมคืบหน้าการนำยางพารามาใช้ในการก่อสร้างถนน

กรมทางหลวงชนบท เผยผลงานสำคัญในรอบ 4 เดือน พร้อมเผยความก้าวหน้าการนำยางพารามาใช้ในการก่อสร้างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย

วันนี้ (19 ธ.ค.62) นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ประชุมมอบนโยบายแนวทางในการปฏิบัติราชการของ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) พร้อมแถลงข่าวเผยผลงานสำคัญในรอบ 4 เดือน ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการเรียบร้อยแล้ว ตลอดจนโครงการที่เตรียมเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการรับปีใหม่ 2563 นี้ รวมทั้ง เรื่องการเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ทช.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนและสะพาน สอดรับนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ในเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว คมนาคมขนส่ง ตลอดจนการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมามีโครงการที่สำคัญขนาดใหญ่ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และได้เปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรแล้ว จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

1. โครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 1098 – ทางหลวงหมายเลข 1 (ตอนที่ 2) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นโครงการเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ (Logistics) ที่ต่อเนื่องกับโครงการก่อสร้างถนนสายเชื่อม ทล.1129 กับ ทล.1098 อำเภอเชียงแสน – อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เพื่อการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างท่าเทียบเรือเชียงแสน แห่งที่ 2 พร้อมทั้งเป็นการแก้ปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นบนถนน ทล.1098 และ ทล.1209 อันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านพื้นที่เขตชุมชนที่มีความลาดชันและคดเคี้ยวเป็นอันมาก ซึ่งมีผลทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง สูญเสียทรัพยากรทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุต่อผู้สัญจรในสายทางดังกล่าว โดยมีรูปแบบทั่วไปเป็นถนนลาดยาง 4 ช่องจราจร พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำกก จำนวน 2 แห่ง ระยะทางตลอดสาย 28.780 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,656.215 ล้านบาท

2. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เป็นโครงการเพื่อพัฒนาโครงข่ายสะพาน เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาการเดินทางของประชาชนที่ไป – มา ระหว่างฝั่งของตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท กับตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ต้องสัญจรด้วยแพขนานยนต์ หากจะเดินทางด้วยรถยนต์เพื่อใช้สะพานข้างเคียง ต้องเดินทางไปประมาณ 25 กิโลเมตร ทช.จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ซึ่งจะเชื่อมระหว่างตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท กับ ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี โดยก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก
2 ช่องจราจร พร้อมถนนเชิงลาด ความยาว 890 เมตร ผิวจราจรกว้าง 7 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1.50 เมตร รวมทั้งที่กลับรถใต้สะพานใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 488.076 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ ประชาชนจะสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ช่วยลดระยะทางในการสัญจร รวมทั้งเป็นเส้นทางลัดไปยังจังหวัดอุทัยธานี และสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญให้ประชาชนสามารถเดินทางมากราบนมัสการหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ณ วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

3. โครงการก่อสร้างถนนสายบ้านสระน้อย – บ้านปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโครงการพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง มีศักยภาพในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่มีความสมบูรณ์และหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอยู่เดิมและพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง เหมาะที่จะยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ทช.จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Riviera) จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวให้สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง มีความสวยงามกลมกลืนกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และมีความปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม ทั้งเป็นเส้นทางจราจรอีกเส้นทางหนึ่งสำหรับการเดินทางลงสู่ภาคใต้ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของ ทล.4 (ถนนเพชรเกษม)
โดยโครงการก่อสร้างถนนสายบ้านสระน้อย – บ้านปากน้ำปราณ เป็นส่วนหนึ่งของถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Riviera) เป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ผิวจราจรกว้าง 7 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1.5 – 2.5 เมตร พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ จุดพักรถ จุดชมวิว ระยะทาง 10 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 74.488 ล้านบาท

4. โครงการขยายถนนกัลปพฤกษ์ (ช่วงกาญจนาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์) เป็นโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตปริมณฑล ซึ่งเดิมถนนกัลปพฤกษ์มี 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีจุดเริ่มต้นที่ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก) ไปสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์บริเวณสวนเลียบ แม้ว่าที่ผ่านมา ทช.ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกถนนสุขาภิบาล 1 และถนนกำนันแม้นแล้วเสร็จ สามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากมีการขยายตัวของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนมีการจราจรหนาแน่น จึงมีความจำเป็นต้องขยายถนนกัลปพฤกษ์ จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ระยะทาง 7.602 กิโลเมตร ในพื้นที่เขตทางเดิม เป็นผิวจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีต พร้อมก่อสร้างระบบระบายน้ำ ทางเดินเท้า ปรับปรุงคอสะพานตลอดเส้นทาง ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และเครื่องหมายจราจรที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 476 ล้านบาท

5. โครงการขยายถนนราชพฤกษ์ ระยะที่ 2 (ตอนที่ 3) ช่วงถนนรัตนาธิเบศร์ – ทางหลวงหมายเลข 345 เป็นโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันถนนราชพฤกษ์มีปริมาณจราจรประมาณ 55,000 คันต่อวัน ส่งผลให้ถนนราชพฤกษ์เกิดปัญหาจราจรติดขัดโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางและความปลอดภัย ทช.จึงได้มีโครงการก่อสร้างขยายผิวจราจรเพิ่มเติม โดยก่อสร้างทางคู่ขนานเพิ่มเติมฝั่งละ 2 ช่องจราจร รวมจากเดิม 6 ช่องจราจร เป็น 10 ช่องจราจร พร้อมทางเท้าและระบบระบายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมา ทช.ได้ดำเนินการขยายถนนราชพฤกษ์ ช่วงคลองมหาสวัสดิ์-ถนนรัตนาธิเบศร์ ระยะที่ 2 (ตอนที่ 1) กม.14+100 – กม.22+900
(ยกเว้นช่วง กม.15+660 ถึง กม.17+800) ระยะทางประมาณ 6.66 กิโลเมตร เปิดใช้งานเมื่อปี 2558 ต่อมาได้ดำเนินการขยายถนนราชพฤกษ์ ระยะที่ 2 (ตอนที่ 2) ช่วงซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 – คลองมหาสวัสดิ์ กม.6+600 – กม.14+100 ระยะทางประมาณ 7.500 กิโลเมตร เปิดใช้งานเมื่อปี 2560 ขณะนี้ ทช.อยู่ระหว่างดำเนินการขยายถนนราชพฤกษ์ ระยะที่ 2 (ตอนที่ 3) กม.22+476 – กม.30+843 ช่วงถนนรัตนาธิเบศร์ – ทางหลวงหมายเลข 345 ระยะทาง 8.367 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของถนนราชพฤกษ์ที่จะต้องขยายเพิ่มช่องจราจร คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 988 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในเรื่องของการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการซ่อมสร้างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ที่ได้เน้นย้ำในเรื่องการนำยางพารามาเป็นส่วนผสม ในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ ซึ่งในส่วนของ ทช.ได้ร่วมกับคณะนักวิจัย
จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศึกษาแนวทางการนำยางพารามาใช้ในงานบำรุงรักษาทาง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ได้แก่ เสาหลักนำทาง และแบริเออร์แบบ Single Slope Barrier หุ้มด้วยยางพารา
หนา 2 นิ้ว สามารถลดแรงกระแทกเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะลดความรุนแรงของอัตราการบาดเจ็บลงได้ ปัจจุบัน มอ. ได้จัดส่งยางพาราแผ่น (Rubber Fender Barrier หรือ RFB) แบบโมเดลต่าง ๆ ให้ วว. โดย วว.จะทำการทดสอบการชนของรถยนต์ส่วนบุคคล ณ ศูนย์ทดสอบของ วว. บริเวณ
อ่างเก็บน้ำลำตะคลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2562 และจะส่งผลการทดสอบ/วัสดุทดสอบไปยังประเทศเกาหลีใต้ เพื่อสรุปผลการทดสอบตามมาตรฐานต่อไป ในส่วนของผลการทดสอบเร่งสภาวะของยางพารา RFB และการทดสอบคุณภาพของกาว (Neoprene)
ตามมาตรฐานมีอายุที่ 5 ปี หลังการทดสอบจะทนแรงได้ถึง 170 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร ซึ่งจะมีการจัดส่งวัสดุ RFB ที่ผ่านทดสอบแล้ว จำนวน 36 ชุด พร้อมกาว รวมถึงรายงานผลการทดสอบแท่งคอนกรีตแบริเออร์ จำนวน 10 ชุด ทั้งนี้ การดำเนินการทดสอบในประเทศเกาหลีจะอยู่ระหว่างวันที่ 20 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 และคาดว่าจะทราบผลการทดสอบในเดือนมีนาคม 2563 ต่อไป

อย่างไรก็ตาม พวกเราชาวทางหลวงชนบทยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงาน เพื่อให้งานของเรามีคุณภาพ สามารถตอบสนองต่อการเดินทางที่ปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนที่ใช้ทางหลวงชนบท ตลอดจนการขับเคลื่อนภารกิจให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศสืบไป

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button