คมนาคม

ครม.ไฟเขียวเงินกู้ผุดสะพานแห่งที่ 5 ไทย-สปป.ลาวและแก้ขยะ-ประปา“เมียนมา”

ครม.ไฟเชียวเงินช่วยเหลือ สปป.ลาว เพื่อก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 “บึงกาฬ-บอลิคำไซ” วงเงินก่อสร้างรวม 2.6 พันล้าน พร้อมกับอนุมัติเงินพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระยะที่ 3 เมืองเมียวดี เพื่อปรับปรุงระบบน้ำประปาและการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ วงเงินกว่า 777 ล้านบาท

นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ–บอลิคำไซ) และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดีตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) สปป.ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 ครม.ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานฯ ในส่วนของขอบเขตงานในฝั่งประเทศไทย วงเงินรวม 2,630 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแล้ว โดยในส่วนขอบเขตงานในฝั่ง สปป.ลาว รัฐบาล สปป.ลาว ได้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก สพพ. ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน

โครงการนี้มีขอบเขตการดำเนินงาน ประกอบด้วยงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงรูปแบบงานสะพานเป็นแบบ Extra dosed Prestressed Concrete ประกอบด้วย สะพานข้ามแม่น้ำโขง ระยะทาง 405 เมตร (แบ่งครึ่งกับฝ่ายไทยแล้ว) และโครงสร้างเชิงลาดในพรมแดนลาวระยะทาง 130 เมตร โดยพื้นที่ก่อสร้างสำหรับงานในฝั่งไทยอยู่ในตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ และส่วนฝั่ง สปป.ลาว อยู่ในเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว

งานก่อสร้างถนนและอาคารด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว เป็นถนน 4 ช่องจราจรมีความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร รวมระบบงานระบายน้ำและระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โดยงานก่อสร้างถนนฝั่ง สปป.ลาว มีระยะทาง 2.86 กิโลเมตร และมีจุดสลับทิศทางจราจรในฝั่ง สปป.ลาว ส่วนงานอาคารด่านพรมแดนก่อสร้างตามมาตรฐานสากลประกอบด้วย 2 ส่วนแยกทางเข้าออกจากกัน คือ กลุ่มอาคารสำหรับตรวจผู้โดยสารและกลุ่มอาคารสำหรับตรวจสินค้า พร้อมองค์ประกอบอื่น ๆ อาทิ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสื่อสาร เป็นต้น

สำหรับวงเงินให้ความช่วยเหลือ (เงินกู้ทั้งจำนวน) 1,380,067,000 บาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 1,256,000,000 บาท สัญญาที่ 1 จำนวน 476,000,000 บาท สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว สัญญาที่ 2 จำนวน780,000,000 บาท งานถนนและด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว

 ค่าวิศวกรที่ปรึกษา 44,000,000 บาท แบ่งเป็น สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว 14,000,000 บาท และงานถนนและด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว 30,000,000 บาท ค่าบริหารจัดการโครงการของ สปป.ลาว 15,000,000 บาท  ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 63,000,000 บาท ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. 2,067,000 บาท เงื่อนไขทางการเงิน อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.5 ต่อปี อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7ปี) ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. ร้อยละ 0.15 ของวงเงินให้ความช่วยเหลือทั้งหมด

นายพีรเมศร์ กล่าวว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับโครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และเป็นโครงการที่สนับสนุนนโยบาย Connectivity พัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาวโดยเส้นทางดังกล่าวจะเสริมสร้างโครงข่ายเส้นทางคมนาคมระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน ให้มีความสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง เพิ่มศักยภาพการค้าชายแดน รวมทั้งยกระดับการค้า และการผลิตสินค้าการเกษตร

นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic CooperationStrategy: ACMECS)

“การก่อสร้างสะพาน เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในกลุ่มอนุภาคตอนบน และยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ ในการเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมและขนส่งระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว สำหรับรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว”

นายพีรเมศร์ กล่าวอีกว่า ยังมีโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี (การปรับปรุงระบบน้ำประปาและการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นเงินกู้ทั้งจำนวน 777,770,000 บาท ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบคู่ขนาน หรือ Parallel–financing กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) สำหรับการพัฒนาพื้นที่และเมืองตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก–ตะวันตก ระยะที่ 3 ในพื้นที่ของประเทศเมียนมา ประกอบด้วย เมืองเมาะลำไย รัฐมอญ เมืองผะอันและเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง

 เพื่อการปรับปรุงระบบน้ำประปาซึ่งครอบคลุมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิต การกักเก็บ และการวางโครงข่ายส่งน้ำประปา จะช่วยลดระดับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำของประชาชนในพื้นที่กว่าร้อยละ 70 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในเมืองเมียวดี รวมถึงการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะซึ่งครอบคลุมการดำเนินการปิดหลุมฝังกลบขยะแห่งเดิมการก่อสร้างหลุมฝังกลบขยะแห่งใหม่ที่มีระบบควบคุม การก่อสร้างเตากำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาล และการก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยจากขยะ จะช่วยควบคุมระบบการจัดเก็บขยะ แก้ไขคุณภาพน้ำและน้ำเน่าเสียบริเวณริมแม่น้ำเมย ตลอดจนช่วยลดความเสี่ยงจากสารเคมีในขยะที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม อาทิ พื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งน้ำ และอากาศของเมืองเมียวดีและริมแม่น้ำเมยของทั้งฝั่งไทยและเมียนมาให้ดีขึ้น” นายพีรเมศร์ กล่าวทิ้งท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button