สนพ. เผยทิศทางใช้พลังงานปี 63 เพิ่มขึ้น พร้อมเปิดตัวทีมโฆษกทำงานเชิงรุก
สนพ. ชี้แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นปี 63 จะเพิ่มขึ้น 1.8% เตรียมรับมือศึกสหรัฐฯ-อิหร่าน ตรึงดีเซล B10 ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร คาดปีหนูทองคนใช้มากขึ้นยอดทะลุ 60 ล้านลิตรต่อวัน ขณะเดียวกันได้ฤกษ์เปิดตัวทีมโฆษก สนพ. เพื่อสื่อสารกับสังคมมากขึ้น
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สรุปสถานการณ์พลังงานปี 2562 การใช้พลังงานขั้นต้นเติบโต 0.7% ตาม GDP ที่ขยายตัว โดยเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ทั้งการใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน โดยเฉพาะ B100 โตเกินเป้าหมาย ชี้แนวโน้มปี 2563 การใช้ B10 ทะลุ 60 ล้านลิตรต่อวัน ด้านพลังงานขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น 1.8% อย่างต่อเนื่องทุกประเภท ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณพลังงานปี 2562 ว่า ภาพรวมของการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศ เติบโตเพิ่มขึ้น 0.7% เป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทดแทน สอดคล้องกับ GDP ของประเทศ ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) คาดการณ์ว่าจะขยายตัวประมาณ 2.6% ตามการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคของเอกชน และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 62 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะเดียวกันการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของปี 2562 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.1% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในภาคขนส่ง การใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนและธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้ถ่านหินและลิกไนต์ลดลงจากการใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับการใช้ NGV ในภาคขนส่งลดลงอย่างมากถึง 11% เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน
ทั้งนี้ สถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิง ปี 2562 พบว่า การใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีการใช้เพิ่มขึ้น 1.6% โดยน้ำมันเบนซิน และดีเซล เพิ่มขึ้น ประมาณ 4% จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และมีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน ขณะที่น้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรก ในขณะที่การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะภาคครัวเรือน คาดว่าเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการใช้เตาไฟฟ้าและเตาไมโครเวฟเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยอดขายเตาไมโครเวฟที่เพิ่มขึ้นถึง 14% และภาคขนส่งลดลงจากผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันไปใช้น้ำมันแทนเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า ทางด้านสถานการณ์น้ำมัน B10 ตอนนี้ราคาอยู่ที่ 25.39 บาทต่อลิตร มีสถานีบริการน้ำมันอยู่ 411 แห่ง ส่วนสถานบริการน้ำมัน B20 มีจำนวน 2,743 แห่ง ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) อยู่ที่ 20.59 บาทต่อกิโลกรัม ราคาผลปาล์ม 5.14 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนการส่งเสริมการใช้ B100 ตามแผนพลังงานทดแทนฯ ได้ตั้งเป้าหมายการอยู่ที่ 3.84 ล้านลิตรต่อวัน แต่ยอดการใช้เมื่อเดือน พ.ย.62 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.90 ล้านลิตรต่อวันแล้ว ถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้
ในปี 2563 คาดการณ์ว่าการใช้ B10 จะเพิ่มเป็น 60 ล้านลิตรต่อวัน จากเดิม 57 ล้านลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน จะส่งผลกระทบต่อการใช้ B10 อย่างไรบ้าง
สำหรับการใช้ไฟฟ้า ในปี 2562 มีอัตราเพิ่มขึ้น 3.8% เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปีก่อน อีกทั้งมีอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนประมาณ 1-2 องศา ส่งผลให้มีการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศ และเครื่องปรับอากาศทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น โดยตัวเลขการใช้ไฟฟ้า ปี 2562 อยู่ที่ 194,949 ล้านหน่วย ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak) อุณหภูมิ 38 องศาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 เวลา 14.27 น. อยู่ที่ระดับ 37,312 MW เพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) อยู่ที่ระดับ 32,273 MW เพิ่มขึ้น 7.7%
ในปี 2562 มูลค่าการนำเข้าพลังงาน และการส่งออกพลังงานลดลง 14% และ 32% ตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าพลังงานคิดเป็น 1,053 พันล้านบาท ซึ่งลดลงตามราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากการนำเข้าพลังงานส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำมันดิบร้อยละ 61 ขณะที่การส่งออกพลังงาน อยู่ที่ 194 พันล้านบาท ลดลง 32% ตามการลดลงของการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้าต่อการใช้พลังงาน คิดเป็นร้อยละ 67
ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวถึงแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563 ซึ่ง สนพ. ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานด้านเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันดิบ และนโยบายที่เกี่ยวข้อง มาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้พลังงาน โดยสภาพัฒน์ฯ มองว่าในปี 2563 จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.7-3.7
อัตราการแลกเปลี่ยนในปี 2563 จะมีค่าใกล้เคียงกับปีก่อน มีค่าอยู่ในช่วง 30.5 – 31.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบก่อนเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าสหรัฐฯกับอิหร่าน สภาพัฒน์ฯ และหลายๆ สำนักมองว่าจะไม่แตกต่างจากราคาน้ำมันดิบในปีนี้มากนัก เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้บริโภค เช่น สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น
จากสมมุติฐานดังกล่าว จะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากการเพิ่มขึ้นของน้ำมัน ถ่านหิน/ลิกไนต์ พลังงานทดแทน ไฟฟ้านำเข้า และก๊าซธรรมชาติ ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าของ ปี 2563 เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ การส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ มาตรการการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนภายใต้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้คงต้องจับตาสถานการณ์เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นถึง 6% จากเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ 65.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 69.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในวันที่ 6 มกราคม 2563 ซึ่ง สนพ. จะคอยติดตามและประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ถ้าหากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเกิน 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็จะใข้เงินกองทุนน้ำมันฯ ที่มีอยู่จำนวน 4 หมื่นล้านบาทเข้าไปอุดหนุน โดยจะมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซล B10 ซึ่งเป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ตามที่ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 63 ให้อยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร” ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ สนพ. ได้เปิดตัวทีมโฆษกของ สนพ. ประกอบด้วย นายอนิรุทธิ์ ธนกรมนตรี โฆษกสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน น.ส.พัชราภรณ์ ผาสุกวานิช รองโฆษกสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และน.ส.ดวงตา ทองสกุล ผู้ช่วยโฆษกสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เพื่อทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลต่างๆ ไปยังสังคมให้มากขึ้น