กฟผ. ร่วมยกระดับวิชาชีพรองรับบุคลากรไฟฟ้าสู่การเป็นฮับพลังงานไฟฟ้าอาเซียน
กฟผ. จับมือ สคช. และ มจธ. ยกระดับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพระบบผลิตไฟฟ้า พัฒนาทักษะบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าตามมาตรฐานอาเซียน เพื่อรองรับสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียนในอนาคต
วานนี้ (15 มกราคม 2563) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) และคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดตัวโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขางานระบบผลิตไฟฟ้า ณ ห้องกษัตริย์ศึก โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์
ดร.สุทธิชัย จูประเสริฐพร รองผู้ว่าการบริหาร กฟผ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าถือเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนประเทศ โดย กฟผ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลด้านความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าเล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดทำมาตรฐานอาชีพร่วมกับ สคช. และ มจธ. เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการเป็นที่ยอมรับในระดับสากลผ่านการให้ข้อมูลจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในงานเดินเครื่อง (Operation) และซ่อมบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้า (Maintenance) ของ กฟผ. รวมถึงทักษะการประยุกต์ใช้ของผู้ที่จะปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้าให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถทำงานได้ทันที และยกระดับแรงงานฝีมือรองรับสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียนในอนาคต ปัจจุบัน กฟผ. ยังอยู่ระหว่างศึกษากระบวนการและเตรียมบุคลากรในการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ (Certify Body) ที่จะดำเนินการหลังการจัดทำมาตรฐานอาชีพแล้วเสร็จ
ด้าน ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ รักษาการผู้อำนวยการ สคช. กล่าวว่า ภารกิจหลักของ สคช. คือการร่วมมือกับผู้ประกอบการและกลุ่มคนในอาชีพจัดทำมาตรฐานอาชีพ เพื่อพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละด้าน ซึ่งสาขางานระบบผลิตไฟฟ้า เป็นหนึ่งในสาขาเป้าหมายของ สคช. เนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018) คาดว่าจะมีความต้องการบุคลากรด้านการผลิตสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ประมาณ 7,500 คน ที่ต้องมีทักษะความรู้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคการศึกษา โดยเฉพาะอาชีวศึกษาให้มีทักษะในเชิงเทคนิคพร้อมเข้าสู่การทำงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย
ขณะที่ ผศ.ดร. กูสกานา กูบาฮา คณบดีคณะพลังงานฯ มจธ. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มจธ.จะใช้เวลาในการดำเนินโครงการประมาณ 1 ปี เพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคแรงงาน โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาให้ข้อมูลทั้ง กฟผ. และภาคเอกชนร่วมกันเขียนมาตรฐานอาชีพขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในปัจจุบัน แล้วกำหนดเป็นมาตรฐานอาชีพ โดยจะเริ่มในสาขาอาชีพที่มีบุคลากรเข้ามาเกี่ยวข้องมากที่สุดคือ งานเดินเครื่อง (Operation) และงานซ่อมบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้า (Maintenance) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เมื่อจัดทำมาตรฐานแล้วเสร็จจะจัดทำเครื่องมือในการประเมินเพื่อทดสอบความสามารถของผู้ปฏิบัติงานว่ามีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับใด เพื่อให้สถานประกอบการหรือภาคการศึกษาใช้เป็นแนวทางในการการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรในอาชีพต่อไปในอนาคต