“ปตท.-มิตซุย”ลงนามสัญญาร่วมทุน เดินหน้าธุรกิจหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด จัดพิธีลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนการดำเนินธุรกิจการให้บริการดิจิทัล หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของผู้ประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและเชื่อมโยงสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า การลงนามร่วมทุนในครั้งนี้ ปตท. มีความมุ่งมั่นในการเดินหน้ายุทธศาสตร์การลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยต่อยอดจากการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ ปตท. มีความชำนาญอยู่เดิมมาร่วมพัฒนา เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ซึ่งการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการดำเนินงานที่คล่องตัว มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม อีกทั้งเป็นการกระตุ้นและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถพัฒนาและเชื่อมโยงการผลิตสินค้าและบริการผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยในระยะแรก ปตท. และ มิตซุยจะมุ่งพัฒนาการออกแบบระบบ (System Integrator: SI) เพื่อช่วยให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้ประกอบการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีและดิจิตอลเป็นพื้นฐาน
บริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี จำกัด (มิตซุย) ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำในกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้งและการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน ได้มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนานผ่านบริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา มิตซุยได้ดำเนินธุรกิจในหลากหลายด้านครอบคลุมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและก๊าซ เหล็ก โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องจักร ยานพาหนะ เคมีภัณฑ์ อาหาร และไอซีที ด้วยประสบการณ์อันยาวนานด้านธุรกิจของมิตซุย ไม่ว่าจะเป็น ด้านการตลาด การเงิน การบริหารด้านโลจิสติกส์ การบริการความเสี่ยง รวมถึงฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง มิตซุยมีความมุ่งมั่นที่จะนำความเชี่ยวชาญดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการให้บริการที่ครบวงจรแก่ลูกค้าร่วมถึงพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศไทย ให้ไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน
“ความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ระบบหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เกิดการขยายตัวของการผลิต นำไปสู่การใช้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติอย่างแพร่หลาย สอดคล้องกับอุตสาหกรรม New S–Curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ อันจะเป็นกลไกที่ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจมีการเติบโตที่ดีขึ้น และนำพาประเทศก้าวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของนวัตกรรม (Innovation–driven economy) สามารถเพิ่มศักยภาพในการขยายโอกาสทางธุรกิจไปยังตลาดโลกได้ในอนาคต”นายวิทวัส กล่าวทิ้งท้าย