พลังงาน

กฟผ. จับมือ กรอ. ดีเดย์ก้าวแรกการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่

กฟผ. และ กรอ. ลงนาม MOU โครงการศึกษาการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย บูรณาการศักยภาพและประสบการณ์ ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อนาคตหวังต่อยอดผลการศึกษาพัฒนาสู่การจัดตั้งโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ต้นแบบของไทย

วันนี้ (วันที่ 23 มกราคม 2563) นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการศึกษาการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย” กับนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการบูรณาการความร่วมมือบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศ โดยมี ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. และนายกัมปนาท รุ่งเรืองชัยศรี ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรอ. เป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.สำนักงานกลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดี กรอ. กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ให้ได้ 15,574 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ซึ่งจะทำให้เกิดซากเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์ประกอบ และซากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก และเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการ โดยได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการจัดการขยะที่เกิดจากเซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอเป็นกิจกรรมในแผนยุทธศาสตร์การจัดการของเสียของกระทรวงอุตสาหกรรม

อธิบดี กรอ. กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีและการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่อย่างเป็นระบบและครบวงจร ซึ่งอายุการใช้งานของแผงโซลาเซลล์ โดยเฉลี่ยประมาณ 20 ปี คาดว่าในปี 2565 จะมีซากจากแผงโซลาเซลล์เกิดขึ้น 112 ตัน และจะเพิ่มเป็น 1.55 ล้านตัน ในปี 2600 ซึ่งหากไม่มีการวางแผนที่เหมาะสม นอกจากจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแล้ว ยังจะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ตามนโยบายรัฐบาล ในส่วนของ กรอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความมุ่งมั่นในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้กับ กฟผ. เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะสามารถบริหารจัดการซากทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงการใช้แบตเตอรี่ทั้งจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น กระทรวงพลังงานจึงได้มีนโยบายให้ กฟผ. ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีส่วนส่งเสริมและผลักดันการใช้เทคโนโลยีพลังงาน ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และรถยนต์ไฟฟ้า ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่หลังสิ้นสภาพการใช้งานอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารการใช้ทรัพยากรภายในประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว มาแปรรูปและนำกลับไปใช้อีกในอนาคต อันมีส่วนเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่ง กฟผ. คำนึงถึงและดำเนินการควบคู่กับภารกิจหลักในการรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศมาโดยตลอด

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี ข้อเสนอแนะ และแนวทางการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความความเหมาะสมในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศ โดยมีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม และมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้ กรอ. จะให้การสนับสนุนด้านข้อมูล ได้แก่ 1) ข้อมูลแนวโน้มซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย 2) ข้อมูลจากการพิจารณาแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรม และ 3) ข้อมูลจากการศึกษาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย

ส่วนของ กฟผ. จะรับผิดชอบในการดำเนินงาน ได้แก่ 1) ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสมสำหรับประยุกต์ใช้กับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย 2) ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย ควบคู่กับการพิจารณาตามแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรมตามข้อมูล กรอ. และ 3) ศึกษาเทคโนโลยีและแนวทางการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ ที่อาจสามารถนำมาบูรณการกับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย

ความร่วมมือระหว่าง กรอ. และ กฟผ. ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการบริหารทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button