พพ. เร่งเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างแผน EEP2018 วางเป้าหมายลดการใช้พลังงานลง3% ปี 2580
พพ. เร่งเครื่อง เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561–2580 (EEP2018) พร้อมเพิ่มการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และเปิดกว้างรับข้อมูล มั่นใจวางเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2580 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553 ช่วยสร้างความมั่นคงพลังงานไทยอย่างยั่งยืน
วันนี้ (17 ก.พ. 63) นายวันชัย บรรลือสินธุ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ พลังงาน (พพ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา “เวทีรับความฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ต่อ (ร่าง) แผน อนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2561–2580 (Energy Efficiency Plan: EEP2018) โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วม เพื่อขอรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ประกอบเป็นข้อมูล ให้ พพ. นำไปพิจารณาปรับปรุง (ร่าง) แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561-2580 (EEP2018) ดังกล่าว
นายวันชัย กล่าวว่า การจัดเวทีสัมมนาฯ ครั้งนี้ พพ. พร้อมเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ได้มีส่วนร่วมในการร่วมให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561-2580 (EEP2018) และ พพ. จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อจัดทำ (ร่าง) แผนอนุรักษ์พลังงานที่สมบูรณ์สูงสุด และทุกภาคส่วนให้การยอมรับ โดย พพ. พร้อมจะให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงจากการทำ (ร่าง) แผนอนุรักษ์พลังงานครั้งนี้ อย่างรอบด้าน และโปร่งใส ซึ่งหากทุกฝ่ายมีความเข้าใจ และยอมรับในการทำแผนฯ ตั้งแต่ช่วง (ร่าง) แผนนี้ การอนุรักษ์พลังงานของประเทศ ก็จะมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ
ทั้งนี้ เป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้กรอบ (ร่าง) แผนอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2580 มีเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ในปี 2580 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า ซึ่งประกอบด้วยการ ลดการใช้พลังงานที่ครอบคลุมใน 5 สาขาเศรษฐกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า บ้านอยู่อาศัย เกษตรกรรม และขนส่ง ทั้งยังมีกรอบการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP2018 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ พพ. จะได้นำเสนอข้อมูล ต่างๆ และจะเป็นเวทีการสร้างความรู้ความเข้าใจใน (ร่าง) แผนอนุรักษ์พลังงาน ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง และ สาธารณะชน เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อไป
“การจะบรรลุตามเป้าหมายของ (ร่าง) แผนอนุรักษ์พลังงานดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการ ยอมรับจากทุกผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ดังนั้น ทุกการแสดงความเห็นในเวที ฯ ครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาแผนอนุรักษ์พลังงาน ให้มีประสิทธิภาพ และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน” นายวันชัย กล่าว