สกสว.-กทม.-การเคหะฯ-ธนารักษ์ รวมพลังวิจัยเชิงพื้นที่พัฒนาเมือง
สกสว. เร่งสร้างเครือข่ายวิจัยเชิงพื้นที่ แบบมุ่งเป้าหมาย เจาะลึกแผนยุทธศาสตร์ กทม. แนวทางการดำเนินงานการเคหะฯ พร้อมนโยบายและแนวทางกรมธนารักษ์ เพื่อระดมความร่วมมือพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการภารกิจ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) เปิดเผยว่า สกสว.ร่วมกับกรุงเทพมหานคร(กทม.)โดยกองยุทธศาสตร์บริหารจัดการ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล พร้อมด้วยการเคหะแห่งชาติ(กคช.) โดยฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย และกรมธนารักษ์ ระดมสมองแนวทางการร่วมมือดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนโดยการสร้างเครือข่ายวิจัยเชิงพื้นที่แบบมุ่งเป้าหมาย
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันพบว่าหลายพื้นที่มีเครือข่ายต่างๆได้เข้าไปพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยทั้งในส่วนกลางและในระดับท้องถิ่นจึงนำเสนอให้พันธมิตรภาคส่วนที่เกี่ยวข้องฉายภาพให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยของแต่ละหน่วยเพื่อจะเป็นข้อมูลการวิจัยให้เกิดผลความสำเร็จตามแผนต่อไป
ผศ.ดร.ปุ่น กล่าวว่า เบื้องต้นพบว่าการเคหะฯ(กคช.) ได้ชี้ให้เห็นว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนาต่อยอดความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง เพื่อสนองพันธกิจในการแก้ปัญหา ชี้นำ และเป็นแนวทางในการดำเนินงานของกคช. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลงานวิจัยจำนวน 284 เรื่อง จำแนกเป็นด้านพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค 34 เรื่อง ด้านกฎ ระเบียบด้านที่อยู่อาศัย 9 เรื่อง ด้านก่อสร้าง เทคโนโลยีและวัสดุ 64 เรื่อง ด้านการเงิน 10 เรื่อง ด้านชุมชน 66 เรื่อง ด้านพัฒนาเมือง 39 เรื่อง และด้านอื่นๆ 62 เรื่อง
“จะต้องมีเฮ้าส์ซิ่งโพลิซีให้เกิดการใช้งานร่วมกันได้ ต้องการให้ก่อเกิดงานวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติมากขึ้นน่าจะก่อให้เกิดการแมชชิ่งร่วมกันได้ กคช.ควรจะเป็น NOD ความรู้ด้านที่อยู่อาศัยจริงๆเป็นฐานข้อมูลให้คณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งชาตินำไปต่อยอดองค์ความรู้ว่ากลไกไหนสามารถพัฒนาการทำงานร่วมกันได้บ้างซึ่งเรื่องการพัฒนาชุมชนและเทคโนโลยีจะมากกว่า 50% ด้านนวัตกรรมยังมีบางส่วนเท่านั้นที่สามารถนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้ ส่วนอื่นจะไปเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจมหภาค การเงินและอื่นๆ”
ด้านนายกิร ดั่นคุณะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย กคช. กล่าวว่า โดยทิศทางการวิจัยของกคช.นั้นจะเน้นถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานเพื่อบูรณาการงานวิจัยพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศเพื่อแก้ปัญหาและการวางแผนรองรับสถานการณ์ในอนาคต การพัฒนา สร้างสรรค์ องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมอย่างสม่ำเสมอ การแลกเปลี่ยน แบ่งปันองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและส่งเสริมผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์
นางสาวปริณดา มีฉลาด นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กองยุทธศาสตร์บริหารจัดการ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. กล่าวว่า ได้สอบถามความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนในปัจจุบันและในอนาคตว่าต้องการแบบใดในแต่ละพื้นที่เพื่อจะได้พัฒนาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของกทม.ระยะ 20 ปี
ขณะที่การเชื่อมโยงแผนต่างๆจะมีทั้งแผนชุมชน ที่จะผลักดันแผนผ่านแต่ละสำนักงานเขตในแต่ละพื้นที่ซึ่งจัดว่าแผนการพัฒนากลุ่มเขตจะมีความสำคัญแต่ไม่มีกลไกเข้าไปรองรับ ปีนี้เป็นปีแรกที่จะทดลองในแต่ละพื้นที่หากสามารถทำได้สำเร็จก็จะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆต่อเนื่องกันไป ซึ่งทั้ง 6 โซนจะเข้ามาร่วมบูรณาการโดยการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนให้ก่อเกิดเป็นแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยแต่ละกลุ่มเขตที่ชัดเจนต่อไป
“สุดท้ายจะสามารถผลักดันให้เป็นงบประมาณขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของแต่ละพื้นที่นั้นได้จากงบประมาณของกทม.เอง ซึ่งกิจกรรมนี้เริ่มมาแล้วตั้งแต่ 21 มกราคม 2563 ที่ผ่านมาโดยได้เชิญสถาบันการศึกษาในพื้นที่กทม.เข้ามาร่วมในครั้งนี้ด้วยซึ่ง 20 สถาบันจากกว่า 40 หน่วยงานแสดงความสนใจเพื่อก่อให้เกิดการจัดทำแผนธุรกิจร่วมกันต่อไปพร้อมกับเปิดเวทีรับฟังความเห็น 112 แห่ง ในครั้งนี้สถาบันการศึกษาจะเข้ามาร่วมดีไซน์กระบวนการต่างๆเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริงต่อไป”
ด้านดร.สิริฉัตร ภู่ภักดี ผู้แทนจากกรมธนารักษ์ กล่าวว่า แผนบริหารจัดการที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์จำนวน 12.5 ล้านไร่ครอบคลุมใน 3 มิติคือกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม 90% จะใช้ในราชการเป็นหลัก ส่วนที่เหลือจะนำไปพัฒนาเพื่อหาประโยชน์ มีทั้งเพื่อการนำไปพัฒนา และการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่นการบุกรุก การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของกระทรวงการคลัง เป็นต้น
“ให้ประชาชนผู้มีรายได้มีที่อยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้องไม่ต้องบุกรุกอีกต่อไป กระจายการถือครองที่ดิน มิติของการพัฒนาเห็นได้ชัดจากการพัฒนาโครงการธนารักษ์ประชารัฐที่ให้ผู้บุกรุกเข้าสู่ระบบของทางราชการด้วยการเช่าแล้วเอาสิทธิ์นั้นไปค้ำประกันเงินกู้ได้อีกด้วย ลงทุนสร้างรายได้เพิ่มต่อไปได้ โครงการบ้านคนไทยประชารัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อย การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากรนับเป็นอีกมิติของการเข้าไปร่วมแก้ไขให้รัฐบาลและประชาชนสามารถมีที่อยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืนได้”
ทั้งนี้ บทบาทการวิจัยเชิงพื้นที่แบบมุ่งเป้านั้นกรมธนารักษ์ไม่มีกองหรือแผนกที่จะดำเนินการวิจัยโดยตรง แต่กรมได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์เชิงพื้นที่จากฐานข้อมูลที่มีอยู่จากข้อมูลที่ดินของกรมธนารักษ์ทั่วประเทศว่าจะเข้าไปแก้ไขปัญหาใดได้บ้างในแต่ละพื้นที่ ว่าหากเกิดการบุกรุกจะบุกรุกในลักษณะใดเพื่อที่จะได้แก้ไขอย่างสอดคล้องต่อไป เบื้องต้นมีนโยบายขอคืนพื้นที่จะส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นๆเพื่อนำมาพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป